Written by Nattapol Klanwari
การแข่งขัน (Competition) นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะก่อให้เกิดการพัฒนาเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม เกิดความพยายามจะคิดค้นกรรมวิธีและเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการพัฒนากิจกรรมต่างๆ โดยมากก็จะใช้วิธีการเฟ้นหาตัวแทนในกลุ่มสังคม หรือหน่วยงานเพื่อเป็นตัวแทนไปเข้าร่วมการแข่งกัน ดังนั้นการกำหนดเกณฑ์ วิธีการให้คะแนนและการตัดสินจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
บทความที่แล้วได้เขียนเกี่ยวกับ มาตรฐานฝีมือแรงงานระดับโลก (WorldSkills Occupational Standards) ตอนที่ 1 ในภาพรวมทั้งหมดไปแล้ว ท่านที่ยังไม่ได้อ่านสามารถคลิ๊กเข้าไปอ่านได้ สำหรับบทความนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจากบทความที่แล้วโดยจะเน้นลึกลงไปในการแข่งขันสาขาการบริการในห้องอาหาร (Restaurant Service)
ก่อนอื่นขออธิบายความหมายที่จะนำไปสู่เนื้อเรื่องเชิงหลักการก่อนคือ ความหมายของคำว่า "การแข่งขัน" (Competition) และ "การประกวด" (Contest)
- การประกวด (Contest) หมายถึง ก. แข่งขันเพื่อเลือกเฟ้นเอาดี โดยมีการตัดสิน เช่น ประกวดนางงาม ประกวดบทความ
- การแข่งขัน (Competition) หมายถึง ก. ชิงเอาชนะเพื่อรางวัล, ขันสู้เอาชนะกัน
จาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ https://dictionary.orst.go.th/
ที่ผมต้องเกริ่นนำความหมายดังกล่าวก่อน เพราะจะมีผลต่อการจัดการแข่งขันโดยเฉพาะการตั้งเกณฑ์และการตัดสินให้คะแนน ขึ้นชื่อว่าการแข่งขันผู้เข้าร่วมการแข่งขันตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้จัดส่ง ผู้ฝึกสอนต่างหวังชนะด้วยกันทุกคน ดังนั้นเกณฑ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเกณฑ์การให้คะแนนจะจัดเป็นกลุ่มหลัก คือ
- เกณฑ์ด้านรูปธรรม (Objective) หมายถึงเกณฑ์ที่มีผลปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น แล่ปลาแล้วไม่มีก้างติดอยู่เลย ต่อวงจรแล้วหลอดไฟส่องสว่าง เป็นต้น
- เกณฑ์ด้านนามธรรม (Subjective) หมายถึงเณฑ์ด้านที่เกี่ยวกับ ความเชื่อ ความชอบ และความรู้สึก เช่น มีความสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใจ ดูและเอาใจใส่ดี ความสะอาด เป็นต้น
เกณฑ์ด้านที่เป็น Objective จะมีปัญหาน้อยกว่าด้าน Subjective เพราะด้านรูปธรรมมีหลักฐานให้เห็นให้ชั่ง ตวง วัด อย่าชัดเจน โดยเฉพาะงานที่มีผลผผลิตยังคงค้างให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน เช่น ก่ออิฐแล้วได้กว้างยาวเท่าไร มีผลงานค้างไว้ตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ด้านบริการจะมีความเป็นนามธรรมค่อนข้างมาก งานชิ้นนั้นเสร็จแล้วก็ไม่มักไม่เหลือหลักฐานให้ตรวจเช็คภายหลังได้ เช่น เสิร์ฟไวน์ไปแล้ว แขกดื่มหมดแล้ว ไม่มีหลักฐานอะไรให้ตรวจเช็คได้ เรียกกว่าผ่านแล้วผ่านเลย
ดังนั้นการแข่งขันต่างๆ มักพยายามจัดทำเครื่องมือที่จะแปลงความเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ที่เห็นชัดๆ เช่น ในอดีตการแข่งขันเทควันโด้ กรรมการต้องคอยดูว่าใครเตะเข้าเป้าที่ลำตัวของคู่ต่อสู้ได้อย่าง "ชัดเจนและหนักแน่น" ก็จะได้คะแนน เถียงกันตายเลย กรรมการคนหนึ่งเห็น อีกคนไม่เห็น ปัจจุบันจึงมีการออกแบบเกราะที่สวมใส่ และหมวกกันสะเทือนทีมีระบบไฟฟ้าโดยถ้าถูกกระทบ เช่น การเตะหรือต่อยคะแนนก็จะขึ้นมาเองเลย เราจะเห็นว่าก่อนการแข่งขันจะต้องให้คู่ต่อสู้ทดสอบเตะเกาะและหมวกเพื่อเช็คว่าใช้งานได้ปกติหรือไม่
https://mgronline.com/sport/detail/9630000006566
เข้าเรื่องสาขาการเสิร์ฟกันเลยครับ การแข่งขันสาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่มหรือการบริการในห้องอาหาร (Restaurant Service) ผู้เชี่ยวชาญในงานด้านนี้ โดยมากก็จะเป็นผู้ฝึกซ้อมให้ผู้เขาร่วมแข่งขันนั่นเองจะมาร่วมประชุมกันเพื่อพิจารณาตั้งหัวข้อ วิธีการและ เกณฑ์การให้คะแนน โดยมากก็จะอ้างอิงโจทย์การแข่งขัน (Test Project) เดิมที่ใช้ในการแข่งขั้นในครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นตัวตั้งแล้วจึงมีการพิจารณาเสนอความคิดเห็นในการ เพิ่ม ลด หรือปรับเปลี่ยนส่วนต่างๆ ให้ที่ประชุมพิจารณาและตกลงกัน
การตั้งโจทย์จะยึดถือจากกรอบเนื้อหาใหญ่ ซึ่งมีด้วยกัน 8 เรื่อง ท่านผู้อ่านสามารถดูเนื้อหาทั้งหมดได้จาก https://worldskills.org/skills/id/246/
ผมจะยกตัวอย่างการตั้งโจทย์การแข่งขันขึ้นมาสัก 1 งาน (Task) จาก 8. Coffee service (การบริการกาแฟ) น้ำหนักคะแนน 8 ซึ่งมีกรอบของเนื้อหาที่กำหนดไว้ดังนี้
The individual needs to know and understand:
- The coffee-making process
- Details of various coffee including:
- Beans;
- Production;
- Country and region of origin;
- Characteristics;
- Use specialist machine and equipment
- Prepare and serve different styles
- Technique work with milk products
- Selection of glassware and equipment used in coffee service
- Classic types coffee
- Coffee grinding
- The individual shall be able to:
- Prepare and serve coffee drinks•Follow the recipes for classic coffee
- Prepare a range of international coffee specialities
- Create signature coffee drinks with own choice
- Use appropriate pouring techniques
- Decorate coffees
- Follow appropriate working processes
ตัวอย่างการตั้งโจทย์งาน: นำกาแฟที่จัดเตรียมไว้ให้ที่เคาน์เตอรไปเสิร์ฟแขก 2 ท่าน
ตัวอย่างเกณฑ์การให้คะแนน
- กาแฟไม่หกออกนอกถ้วยกาแฟ 2 คะแนน
- มีเครื่องปรุง (นม ครีม น้ำตาล) ไปพร้อมหรือก่อนการเสิร์ฟกาแฟ 2 คะแนน
- พูดแจ้งแขกว่ากำลังจะเสร์ฟกาแฟ 2 คะแนน
- วางชุดถ้วยกาแฟโดยให้หูแก้วหันไปด้านขวามือของแขก 2 คะแนน
- เสิร์ฟให้แขกสุภาพสตรีก่อนสุภาพบุรุษ 1 คะแนน
- เสิร์ฟด้วยความสุภาพ ยิ้มแย้ม 1 คะแนน
- คะแนนรวม 10 คะแนน
หลักการของการตั้งโจทย์ (Task) คือต้องดึงชิ้นงานออกมาเป็นการวัดทักษะ (Skill) ให้มากที่สุด และสามารถให้คะแนนเป็นรูปธรรม (Objective) ให้มากที่สุดเช่นกัน
หลังจากการแข่งขัน กรรมการให้คะแนนแล้ว ก็จะมาถึงการประชุมการให้คะแนน ประธานหรือหัวหน้าคณะกรรมการ (Chief Expert) ก็จะขานการให้คะแนนผู้เข้าร่วมแข่งขั้นในแต่ละงานที่แข่ง เช่น การเสิร์ฟกาแฟเป็นแก้วของผู้แข่งขันหมายเลข 1 จะไม่ระบุชื่อประเทศซึ่งถึงแม้จะทราบก็ตาม กรรมการทุกคนที่ให้คะแนนต้องแจ้งเลขคะแนนที่ให้ กรรมการจะเว้นการให้คะแนนผู้เข้าแข่งขันที่มาจากประเทศเดียวกับตนเองที่ฝึกซ้อมมา โดยแต่ละคนจะมีการ์ดที่มีตัวเลข 1 - 10 เพื่อใช้โชว์ให้เห็นคะแนนที่ตนเองให้
การให้คะแนนจะให้ต่างกันไม่เกิน 2 คะแนน เช่น 8, 9, 10 หรือ 6,7,8 หากใครให้คะแนนมากกว่า เช่น ถ้าคะแนนส่วนใหญ่ที่ให้กันอยู่ที่ 5, 6, 7 ถ้ามีกรรกรมคนใดให้ต่ำกว่า 5 เช่น ให้ 3 หรือให้มากว่า 7 เช่น 9 กรรมการท่านที่ให้คะแนนที่มากกว่าหรือน้อยกว่านั้นต้องให้เหตุผลว่าทำไมถึงให้อย่างนั้น
เช่น ส่วนใหญ่ให้ที่ 5, 6, 7 กรรมการที่ให้คะแนน 3 จะต้องให้เหตุผลว่ามีจุดใดที่หักคะแนนเช่นนั้น เพราะฉะนั้นคำถามว่า "Why" จะเกิดขึ้นบ่อยมาก ถ้ากรรมการที่ให้คะแนน 3 มีเหตุผลไม่เพียงพอต้องปรับคะแนนขึ้นมาที่จุดต่ำสุดคือ 5 แต่ก็มีบางครั้งที่ผู้ที่ให้คะแนน 7 ยอมถอยลงมาที่ 6 ซึ่งสรุปแล้วอาจเป็น 4, 5, 6 หรือ 5, 6, 7 ตามเหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนน้อย สรุปแล้วต้องห่างกันไม่เกิน 2 ในภาพรวม (สนุกปนเครียดกันละครับ)
เมื่อได้คะแนนสรุปของแต่ละงานของผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนแล้วจึงส่งผลคะแนนนั้นไปคีย์ลงระบบคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นก็จะมีการพูดคุยเพื่อหาข้อบกพร่องในการจัดการแข่งขัน หรือจุดต่างๆ เพื่อพัฒนาการแข่งขันให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ
1. การตั้งน้ำหนักคะแนน เพราะงานแต่ละงานความสำคัญจะไม่เท่ากัน เช่น การเสิร์ฟอาหารน้ำหนักคะแนน 28 จาก 100 หรือ 28 % ขณะที่การบริการกาแฟน้ำหนักคะแนนอยู่ที่ 8 %
2. การให้คะแนนในใบให้คะแนนที่ฐาน 10 แล้วจึงนำคะแนนที่ได้ไปคูณกับน้ำหนักคะแนน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการให้คะแนน คือทุกอย่างเต็ม 10 หมด
3. การที่กรรมการที่ให้คะแนนต้องขานคะแนนที่ให้กันอย่างเปิดเผยพร้อมเหตุผล ไม่ใช่กรอกคะแนนในใบให้คะแนนแล้วก็ส่งให้คณะทำงานกรอกลงระบบเลย ซึ่งอาจมีการกดคะแนน หรือให้คะแนนใครจนเว่อร์ก็จะไม่มีการตรวจทานกัน (เสร็จแล้วก็ขอดูว่าใครให้คะแนนกันเท่าไร แล้วก็นินทากันลับหลัง)
หลักเกณฑ์นี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกการประกวดหรือการแข่งขัน ถ้าทำเช่นนี้ ปํญหาที่เรามักเห็นหรือได้ยินดราม่าเกี่ยวกับการประกวดหรือการแข่งขันต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ยกเว้นว่ามีการจงใจล็อคผล ซึ่งอันนี้ก็ช่วยไม่ได้ครับ
ผมขอค้างเรื่องการแข่งขัน และมาตรฐานในภาพรวมของประเทศไปไว้ในบทความต่อไปนะครับ เดี๋ยวจะมากไปสำหรับบทความนี้ แล้วพบกันครับ
To be continued.....