Photo by Jay Wennington on Unsplash
Written by : Nattapol Klanwari
การพบปะสังสรรค์ การฉลอง การแสดงความยินดี มักจะหนีไม่พ้นเรื่องการกิน การดื่ม ที่จะได้ใช้เวลาด้วยกันในการแสดงความยินดีดังกล่าว การแสดงออกที่เหมาะสมตลอดจนมารยาทในการร่วมงานเลี้ยงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
การอยู่หรือรวมตัวหรือพบปะเป็นสังคม เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา และสิ่งที่ใช้เป็นตัวเชื่อมของชีวิตประจำวันคือเรื่องการกิน การดื่ม หรือพูดรวมไปเลยว่า "การรับประทานอาหาร" การแสดงการต้อนรับ เลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ โดยมากก็จะใช้การเลี้ยงอาหารเป็นกิจกรรมหลัก แต่ละสังคมก็จะมีธรรมเนียมปฏิบัติหรือมารยาทที่แตกต่างกันออกไป อาจคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันออกไป แต่ในเมื่อผู้คนจากสังคมที่แตกต่างกันมาพบปะ เข้างานเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มก็ต้องมีหลักปฏิบัติแบบเป็นกลางหรือเป็นสากลที่เป็นที่ยอมรับของคนหมู่มาก ซึ่งก็หนีไม่พ้นแนวทางปฏิบัติของตะวันตก (Western) จนเป็นตัวแทนของความเป็นสากล (International)
เมื่อเรายึดหลักปฏิบัติในการรับประทานอาหารแบบตะวันตกเป็นแบบสากล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องทราบหลักการปฏิบัติต่างๆ หรือมารยาทในการร่วมรับประทานอาหารแบบสากล (Internation Dining Etiquette) เพราะเป็นการให้เกียรติและเป็นการแสดงออกถึงความเหมาะสมของการร่วมสังคมดังกล่าว
การจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มมีทั้งที่เป็นแบบที่เป็นทางการ (Formal Banqueting) ที่มีการเชิญแขกโดยเฉพาะ มีการจัดที่นั่งเฉพาะว่าใครนั่งที่ใดติดกับใคร และที่ไม่เป็นทางการ (Inforamal Banqueting) ที่เป็นแบบไม่เป็นทางการ เช่น การจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ (Buffet) ที่แขกต่างคนต่างเดินตักอาหารมารับประทานเอง ในบทความนี้จะกล่าวคลุมทั้งสองกรณีโดยจะชี้ประเด็นตัวอย่างเฉพาะของแต่ละแบบ สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องมือของใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น มีด ช้อน ส้อม แก้วประเภทต่างๆ การจัดโต๊ะอาหาร ขอให้อ่านได้ที่บทความที่ผมได้เขียนไว้แล้วในเว็บไซท์นี้
การจัดเลี้ยงอาหารก็ต้องมีทั้งฝ่ายผู้จัดหรือเจ้าภาพ (Host) และผู้ที่เป็นแขก (Guest) ผู้ที่เป็นเจ้าภาพก็ต้องจัดให้เหมาะสมในฐานะผู้เชิญต้องทราบธรรมเนียมและวิธีการของการเป็นเจ้าภาพที่ดี ขณะเดียวกันผู้ที่เป็นแขกก็ต้องทราบธรรมเนียมปฏิบัติและมารยาทในการไปร่วมเป็นแขกที่ดีด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ ว่าต่างคนต่างต้องมีมารยาทตามบทบาทที่เป็นอยู่ เพื่อความสะดวกในปัจจุบันเจ้าภาพก็มักเลือกที่จะไปจัดงานเลี้ยงอาหารที่โรงแรม เพราะมีความสะดวกและมีเจ้าหน้าที่ที่ทราบและสามารถจัดงานเลี้ยงอาหารนั้นให้เป็นไปตามหลักสากลแบบมืออาชีพ (Professional)
The Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel, Bangkok
ผมจะไล่เรียงตามลำดับของแต่ละกิจกรรมดังนี้
1. การเชิญ (Invitation)
เจ้าภาพจะต้องออกบัตรเชิญ (Invitation Card) ถึงแขกที่จะเชิญเข้ามาร่วมรับประทานอาหาร โดยในบัตรเชิญก็จะระบุประเภทของงานเนื่องในโอกาสใด วัน เวลา สถานที่ ประเภทของงานเลี้ยง รวมถึงการแต่งการที่เหมาะสม
ตัวอย่างบัตรเชิญการร่วมงานเลี้ยง
แขกที่ได้รับเชิญจะต้องตอบกลับว่าสามารถเข้าร่วมงานได้หรือไม่ การจัดเลี้ยงแบบสากลโดยเฉพาะที่จัดอย่างเป็นทางการที่โรงแรม จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ต้องทราบจำนวนแขกที่แน่นอน ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รอไว้ตัดสินใจใกล้ๆ โดยมากในบัตรเชิญจะระบุว่าให้ตอบยืนยันภายในวันที่เท่าไร
ข้อควรฏิบัติ
- เจ้าภาพต้องเชิญ
- แขกต้องได้รับการเชิญ และตอบรับหรือตอบปฏิเสธการร่วมงานภายในวันที่กำหนด
2. การเดินทางถึงสถานที่จัดเลี้ยง (Arrival)
แขกควรเดินทางไปถึงสถานที่ที่จัดเลี้ยงก่อนเวลาสัก 20 นาทีเป็นอย่างน้อย เช่นถ้าในบัตรเชิญระบุว่าอาหารเย็นเริ่มเวลา 18.00 น. แขกควรเดินทางไปถึงสถานที่ก่อน 17.40 น. โดยมากเจ้าภาพจะมีการจัดเครื่องดื่ม (Cocktail Reception) ไว้ต้อนรับก่อนเวลาอาหารเริ่มบริเวณหน้าห้องที่จัดเลี้ยง เจ้าภาพต้องเตรียมตัวมายืนให้การต้อนรับหน้างานอย่างน้อย 30 นาที
ถ้าต่างประเทศที่หนาวต้องใส่เสื้อกันหนาว (Overcoat) นำไปฝากไว้ที่ห้องฝากของและเสื้อ (Cloakroom) โดยทางเจ้าหน้าที่จะให้บัตรหรือ Tag ที่มีหมายเลขให้เพื่อการนำมายื่นแลกคืน ไม่ควรนำติดตัวเข้าไปยังโต๊ะอาหารเพราะจะเกะกะรุงรังมาก เจ้าหน้าที่เสิร์ฟก็จะทำงานลำบาก
ตัวอย่างห้องฝากเสื้อผ้าและสิ่งของ (Cloakroom)
เมื่อแขกเดินทางไปถึงสถานที่แล้ว ควรทำธุระส่วนตัว เช่น การไปห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนการไปหน้าห้องจัดเลี้ยง เดินทางไปทักทายเจ้าภาพที่ยืนต้อนรับหน้าห้องจัดเลี้ยง กล่าวแสดงความยินดีที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ เจ้าภาพจะเชิญให้แขกดื่มเครื่องดื่มตามอัธยาศัย (Cocktail Reception) ถ้ามีผังที่เจ้าภาพจัดให้นั่งที่ใดควรตรวจดูผังที่นั่งให้แน่นอน หรืออาจมีเจ้าหน้าที่พาไปนั่งยังที่ที่จัดไว้ให้
Photo by Joseph Pisicchio on Unsplash
ข้อควรฏิบัติ
- เจ้าภาพเตรียมพร้อมให้การต้อนรับหน้าห้องจัดเลี้ยง
- แขกต้องไปทักทายเจ้าภาพก่อน
- แขกไม่ควรคุยกับเจ้าภาพนานเกินไปเพราะเจ้าภาพต้องให้การต้อนรับแขกท่านอื่นต่อไปอีก
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา ไม่ต้องเสียดายเพราะที่โต๊ะอาหารยังมีไวน์เสิร์ฟอีก
3. การเข้านั่งที่โต๊ะอาหาร (Seating)
ถ้าเจ้าภาพจัดที่นั่งเฉพาะให้นั่งที่ใดต้องนั่งที่ที่เจ้าภาพจัดให้ หรือมีเจ้าหน้าที่พาไปนั่งก็นั่งที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ไม่เปลี่ยนที่นั่งเอง
ข้อควรปฏบัติ
- ถ้าเจ้าภาพจัดที่นั่งเฉพาะให้ ต้องนั่งตามที่เจ้าภาพจัดให้
- ไม่นำแก้วเครื่องดื่มที่หน้างานเข้ามายังโต๊ะอาหาร
- ยิ้มทักทายเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารข้างๆ ถึงแม้ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ถ้ารู้จักกันก็ไม่ควรคุยกันมากเกินไป หรือคุยเสียงดัง
4. ขั้นตอนการับประทานอาหารที่โต๊ะอาหาร (Dining)
4.1 ทักทายผู้ที่นั่งข้างๆ ด้วยการยิ้มให้เล็กน้อยอย่างสุภาพ ไม่จำเป็นต้องคุยกันอย่างเมามันโดยเฉพาะผู้ที่รู้จักกันมาแล้ว เพราะเมื่อเข้าโต๊ะอาหารแล้ว ก็จะเริ่มเสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารแล้ว
4.2 เมื่อเข้านั่งที่เก้าอี้ที่เจ้าภาพจัดให้ นำผ้าเช็ดปาก (Guest Napkin) คลี่ออกและนำพาดไว้ที่หน้าตัก อาจพับเป็นสามเหลี่ยมก็ได้ บางครั้งพนักงานอาจเป็นผู้คลี่แล้วส่งให้ ก็รับจากพนักงานมาวางที่หน้าตักของเราเอง สำหรับสุภาพสตรีที่มีกระเป๋าถือมาด้วยให้วางที่หน้าตัก ไม่ควรวางบนโต๊ะอาหาร
4.3 การทานขนมปัง อาหารตะวันตกจะเสิร์ฟกับขนมปัง เช่นเดียวกับที่อาหารไทยต้องทานข้าวกับกับข้าว
ดูรายละเอียดเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหารได้ที่ https://trainingreform.com/index.php/training-blog/170-training-blog-75
จานสำหรับใส่ขนมปังจะอยู่ด้านซ้ายมือของเรา การเสิร์ฟขนมปังอาจมีด้วยกันหลายวิธี
- ใส่ตะกร้าวางไว้ที่โต๊ะอาหาร สำหรับแขก 3-4 คนต่อหนึ่งตะกร้า ใช้มือหยิบขนมปังที่ต้องการทานมาใส่ในจานขนมปังของเราด้านซ้ายมือ (ใช้มือหยิบได้เฉพาะของเรา) ถ้าจะแสดงความเอื้อเฟื้อให้ผู้อื่น ให้ยกตะกร้าส่งให้เขาหยิบ ไม่ใช้มือหยิบให้เขา
- พนักงานนำมาเสนอให้โดยพนักงานจะนำตะกร้ามายื่นเสนอให้ข้างซ้าย เพราะจานขนมปังอยู่ข้างซ้าย แล้วถามให้เราเลือก มองดูแล้วแจ้งพนักงานว่าต้องการชิ้นใด แล้วพนักงานจะคีบชิ้นนั้นใส่จานขนมปังของเราให้ ไม่ทำการหยิบจากตะกร้าที่พนักงานยื่อนเสนอให้ด้วยตนเอง
การทานขนมปังใช้วิธีการบิเป็นคำต่อคำ เมื่อบิออกมาแล้วใช้มีดปาดเนยที่จัดไว้ให้ ทาลงบนขนมปังที่บิออกมาแล้วค่อยทาน ไม่ยกกัดทั้งชิ้นใหญ่ๆ (ยกเว้นขนมปังในมืออาหารเช้า ยกกัดทานได้เลย)
4.4 การดื่มไวน์
- ถ้าเป็นซุป (Soup) ใช้ช้อนซุปที่อยู่ด้านขวามือตักทาน ซุปอาจใส่จานซุป หรือใส่ถ้วยซุป ถ้าใส่ถ้วยก็จะมีจานรองมาด้วย ถ้าทานเสร็จแล้วก็วางช้อนซุปพาดไว้ที่จานรอง
- ถ้าเป็นอาหารที่ต้องตัดหรือทั่นก็จะใช้มีดส้อมที่จัดไว้ให้
- ก่อนการเสิร์ฟอาหารจานหลัก (Main Course) ห้องอาหารหรือสถานที่จัดเลี้ยงอาจเสิร์ฟเชอร์เบท (Sherbet) ลักษณะคล้ายกับไอศกรีมรสผลไม้ต่างๆ แต่จะไม่ใส่นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ใช้ทานเพื่อล้างลิ้นจากรสชาติต่างๆ ก่อนการทานอาหารจานหลักได้อย่างได้รสชาติเต็มที่
- ขณะรับประทานอาหารอยู่และจะวางมีด ส้อม สักครู่ก็วางพาดในจานลักษณะที่กางออกพร้อมสำหรับการหยิบขึ้นมาใช้ต่อ แต่ถ้าทานเสร็จแล้วให้วางมีดและส้อม หรือช้อนและส้อมคู่กันในจาน
เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว รวบมีดและส้อม หรือช้อนและส้อมไว้คู่กัน
4.6 การจัดการกับกรณีที่ไม่ปกติ ขณะรับประทานอาหารอาจเกิดสถานการณ์ที่ไมปกติเกิดขึ้นได้ เช่น
- อุปกรณ์ มีดหรือส้อม ตกลงพื้น ไม่ต้องก้มลงเก็บ หันหาพนักงานเพื่อให้นำชิ้นใหม่มาให้ พนักงานที่ชำนาญจะสังเกตเหตุการเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน
- อาหารหรือเครื่องดื่มหกใส่ ก่อนอื่นต้องป้องกันไว้ก่อน พนักงานจะแจ้งเตือนก่อนการเสิร์ฟหากเราไม่เห็นหรือไม่ทราบ และไม่ควรยื่นมือช่วยรับแก้วเครื่องดื่มหรือจานอาหารจากพนักงาน ปล่อยให้พนักงานวางที่โต๊ะให้ เพราะการรับต่อจะเกิดความผิดพลาดในการับต่อที่จะทำให้อาหารและเครื่องดื่มหกได้ เพียงแค่หลบตัวให้พนักงานเสิร์ฟได้อย่างสะดวกก็พอเพียงแล้ว
4.7 มารยาทต่างๆ ขณะรับประทานอาหารที่โต๊ะอาหาร
- ถ้าจะคุยกันต้องระวังไม่ให้เสียงดังจนเกินไป
- ไม่ย้ายแก้วเครื่องดื่มหรือเครื่อมือต่างๆ บนโต๊ะอาหาร เช่น แก้วไวน์หรือเครื่องมือในการรับประทานอาหารบนโต๊ะ ถ้าจะต้องเลื่อนอะไรพนักงานจะเป็นผู้มาจัดการให้
- ถ้าจะยกแก้วแบบชนเพื่อแสดงน้ำใจต่อก้น เพียงแค่ยกแก้วขึ้นแล้วสบตากับผู้ที่จะชวนดื่มก็พอ ไม่ต้องพยายามเอื้อมแขนไปชนแก้วกัน
- ในโต๊ะอาหารที่เป็นงานเลี้ยงแบบเป็นทางการไม่ควรนำโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพอาหาร
- ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือขณะรับประทานอาหาร
- ควรรอให้เจ้าภาพหรือประธานในโต๊ะได้อาหารแล้ว และเริ่มลงมือทานก่อนหรือเชิญให้ทาน จะไม่ทานก่อนเจ้าภาพ
- ไม่คุยเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความบาดหมางกันได้ โดยเฉพาะเรื่อง การเมือง ศาสนา หรือความเชื่อต่างๆ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนควบคุมสติไม่อยู่
- ไม่ควรขอซ๊อสอื่นมาใส่อาหารเพิ่มเติมจากที่พ่อครัวจัดไว้ให้แล้ว เช่น Steak ที่เสิร์ฟกับ Red Wine Sauce ถือว่ามีซ๊อสแล้ว จะเติมก็เพียงเกลือหรือพริกไทยเท่านั้น
- ถ้าเจ้าภาพหรือประธานในโต๊ะอาหาร กล่าวหรือขอพูดอะไรที่โต๊ะอาหาร ต้องหยุดกิจกรรมในการรับประทานหรือดื่มชั่วขณะ หันหน้าไปแสดงความตั้งใจฟังการพูดนั้น
- ถ้าเจ้าภาพกล่าวขอบคุณ และลุกออกจากโต๊ะหลังการทานเสร็จแล้ว ต้องลุกออกจากโต๊ะ ตามไปเลย ไม่นั่งดื่มเครื่องดื่มต่อ
- หากมีสิ่งใดที่ผิดไปจากประสบการณ์การบริการที่เคยได้รับ ไม่ควรติหรือสอนพนักงานระหว่างการบริการ ปล่อยไปก่อน ถ้าต้องการจะพูดหรือบอกหลังเสร็จงานแล้วค่อยไปคุยกับผู้จัดการ
Steak ที่เสิร์ฟมาพร้อมซ๊อสเรียบร้อยแล้ว
4.8 มารยาทการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ (Buffet)
ถึงแม้การจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่จะไม่เน้นความเป็นทางการมากนักแต่ผู้ใช้บริการก็ควรต้องระมัดระวังเรื่องมารยาทด้วยเช่นกัน
- เข้าแถวต่อคิวในการตักอาหาร
- ตักอาหารเท่าที่จะทานหมด
- ใช้อุปกรณ์ในการตักที่สถานที่จัดไว้ให้
- ไม่ตักอาหารหวานก่อนอาหารคาว เช่น เห็นว่าคิวการตักอาหารคาวยาวก็เลยตักอาหารหวานไว้ก่อน
- ถ้าจะตักอาหารแทนกันต้องพูดคุยบอกกล่าวกันก่อน ไม่ใช่ต่างคนต่างตักให้กันและกันโดยไม่ได้นัดกันก่อน ทำให้อาหารเหลือที่โต๊ะอาหาร
- ขณะที่เดินไปตักอาหารหรือกลับมาที่โต๊ะไม่ควรแวะทักทายคนที่รู้จักนาน หรือนั่งคุยกันเลย เพราะเจ้าของที่นั่งกลับมาจะดูไม่เหมาะสม
- เมื่อพนักงานเดินมาบริการเครื่องเป็นแก้ว รับมาดื่มแก้วต่อแก้ว หมดแล้วค่อยรับแก้วใหม่ ไม่รับไว้ครั้งและหลายแก้ว
4.9 การดื่มและทานในงานเลี้ยงแบบค๊อกเทลปาร์ตี้ (Cocktail Party)
Cocktail Party เป็นงานเลี้ยงที่ไม่มีที่นั่ง แขกจะยืนดื่มและทานอาหารแบบขบเดี้ยวเท่านั้น อาจเป็นการจัดเครื่องดื่มและอาหารไว้ที่เคาน์เตอร์แล้วแขกเดินไปรับเองหรือมีพนักงานเดินคอยให้บริการ แต่สภาพสังคมปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเป็นกึ่งมีของทานอื่มเลย มีที่นั่งส่วนหนึ่งให็ผู้สูงอายุ มารยาทที่พึงระมัดระวังคือ
- ถ้าเป็นเครื่องดื่มและอาหารที่จัดไว้ที่เคาน์เตอร์ ควรรับอาหารและเครื่องดื่มแล้วเดินออกมา ไม่ยืนขวางหรือเกะกะแขกท่านอื่นที่ต้องเข้ามารับอาหารและเครื่องดื่ม
- ถ้าเป็นอาหารที่จัดเป็นคำๆ แล้วมีไม้จิ้มให้ใช้จิ้มทาน ต้องใช้ไม้จิ้มที่จัดไว้ให้ และทิ้งในภาชนะที่จัดไว้ให้ (อย่าเผลอนำไม้จิ้มที่ใช้แล้วจึมไว้ที่อาหารในถาดนั้นอย่างเด็ดขาด)
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนควบคุมสติไม่อยู่
- ถ้ามีที่นั่งควรเอื้อเฟื้อให้ผู้ที่จำเป็นต้องนั่งจริงๆ เช่น ผู้สูงอายุ
- ถ้ามีการพูดหรือกล่าวอะไรจากภาพ ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ แล้วหันไปตั้งใจฟัง
- เมื่อเจ้าภาพกล่าวขอบคุณและอำลา นั่นเป็นสัญญานที่ควรออกจากงานเลี้ยง เพราะโดยส่วนใหญ่ถ้าจัดในโรงแรมจะมีกำหนดเวลาการเลิกที่แน่นอน
สามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้จาก
การใช้เครื่องมือบนโต๊ะอาหารแบบสากล https://trainingreform.com/index.php/training-blog/170-training-blog-75
มีด ช้อน ส้อม ที่ใช้บนโต๊ะอาหารตะวันตก (Flatware) https://trainingreform.com/index.php/training-blog/161-training-blog-70
แก้วเครื่องดื่ม (Glassware) https://trainingreform.com/index.php/training-blog/173-training-blog-78
ประเภทของรายการอาหาร (Types of Menu) https://trainingreform.com/index.php/training-blog/191-training-blog-95
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านคงได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย หากท่านใดมีประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอมาแลกเปลี่ยนกันก็ยินดีครับ