การจัดการฝึกอบรมเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้การจัดการฝึกอบรมจะต้องมีการตั้งค่าความคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยเพราะการจัดในแต่ละครั้งมิใช่เพียงแค่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนวิทยากร ถ้าต้องจ้างจากบริษัทหรือหน่วยงานภายนอกแต่ถึงแม้จะเป็นวิทยากรที่เป็นคนในภายในองค์กรก็มีค่าจ้างอยู่ดี นอกจากนั้นเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเช่น ค่าเช่าห้อง ค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่าการบริหารจัดการ ต่างๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญคือมูลค่าเวลาของบุคลากรผู้เข้ารับการอบรมซึ่งแทนที่จะปฏิบัติงานตามปกติที่ทำอยู่ต้องละจากงานมาเข้ารับการอบรม
ผลที่ต้องคาดหวังจากการเข้ารับการฝึกอบรมคือ "การเปลี่ยนแปลง" (Change) ที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการอบรม แน่นอนว่าต้องเป็นไปในทางที่ดี ถ้าก่อนและหลังการอบรมเสร็จสิ้นแล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นเลย นั่นก็คือการอบรมนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นไม่ต้องจัดการฝึกอบรมให้เสียค่าใช้จ่ายและเวลาเลยจะดีกว่า
การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากหน่วยเล็กๆ ก่อนคือตัวผู้เข้ารับการอบรมแต่ละคน จากนั้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในแผนกย่อยๆ ที่พนักงานหลายคนปฏิบัติงานอยู่ด้วยกัน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งองค์กรคือภาพรวมของการทำงานประสานกันของแผนกต่างๆ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การนำของผู้นำที่เป็นผู้กำหนดและควบคุมกลยุทธ์ (เรื่องของผู้นำจะเขียนแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ขอเน้นทีี่การเปลี่ยนแปลงระดับย่อยที่สุดคือที่ตัวบุคคลที่เข้ารับการอบรม สิ่งที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1. การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ (Attitude)
2. การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ (Knowledge)
3. การเปลี่ยนแปลงด้านทักษะ (Skill)
การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ (Attitude) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นด้านนามธรรมคือด้านความคิดเห็น ความรู้สึก กล่าวรวมคือการเปลี่ยนแปลงที่เน้นไปที่ด้าน คุณธรรมและจริยธรรม ที่ส่งผลไปถึงคุณสมบัติที่จะก่อให้เกิดการคิดที่ไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม เช่าน ความเสียสละ ความทุ่มเทกับส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งทัศนคติหรือความคิดที่ดี ก็จะมีผลโดยตรงต่อการพูด การประสานงานกับผู้อื่นในทางที่ดี (Communication and Cooperation) และการกระทำที่ดี (Action) รู้สึกละอายและไม่ยอมพูดหรือทำในทางที่ไม่ดี
การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ (Knowledge) โดยมากมักเน้นในรูปแบบของข้อมูล (Information) ที่เน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับไปมากๆ เพื่อประกอบการทำงาน แต่ปลายทางที่ไกลออกไปจากข้อมูล คือ การวิเคราะห์ และการตัดสินใจ เพราะข้อมูลเป็นเพียงวัตถุดิบ เปรียบเสมือนได้วัตถุดิบประกอบอาหารมาสิ่งหนึ่ง เช่น ได้เนื้อหมูมาชิ้นหนึ่ง จะต้องวิเคราะห์และตัดสินใจต่อไปให้ได้ว่าเหมาะสมที่จะนำไปปรุงเป็นอาหารอะไร เหมาะสมกับใคร และเพราะอะไร
การเปลี่ยนแปลงด้านทักษะ (Skill) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความสามารถด้านวิธีการและขั้นตอน จากที่เคยปฏิบัติงานช้าไม่ถูกขั้นตอน หลังจากการฝึกอบรมแล้วสามารถปฏิบัติงานได้เร็วขึ้น ถูกต้องตามขั้นตอน
การเปลี่ยนแปลทั้ง 3 ด้านเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อกันและกัน เช่น จะเน้นแต่เรื่องความละเอียดรอบครอบในการทำงานโดยผ่านการพูดสอนเพียงอย่างเดียวตลอด 1 ชั่วโมงเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมตระหนักหรือเกิดความละเอียดรอบครอบขึ้นมาเลยคงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าให้ลงมือทำงานสักชิ้นบ่อยๆ (Skill) และค่อยๆ สอดแทรกจุดที่ต้องละเอียดรอบครอบ (Attitude) เข้าไปแบบฝังไปกับการปฏิบัติ จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเคยชิน และยอมไม่ได้ที่จะให้ชิ้นงานนั้นออกมาแบบไม่สมบูรณ์ ก็คือเกิดความละเอียดรอบครอบขึ้นเองได้แล้ว