ความแตกต่างของพฤติกรรมการกินการดื่มของลูกค้ามีผลเป็นอย่างมากต่อการให้บริการ โดยลูกค้าหรือแขกจากแต่ละประเทศก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป การตั้งมาตรฐานตลอดจนการฝึกอบรมพนักงานโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้มาตรฐานสากลหรือพูดง่ายๆ ว่าจะวัฒนธรรมตะวันตกมาเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งบางครั้งต้องมีการปรับโดยเฉพาะสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานรับมือกับการดื่มสุราของลูกค้าชาวไทยด้วย
การให้บริการส่วนใหญ่ก็จะเป็นการตอบสนองให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในการบริการนั้น ซึ่งความพอใจของลูกค้าก็มาจากพฤติกรรมการใช้บริการด้วยเช่นกัน ขอยกตัวอย่างการดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
สังคมตะวันตกหรือฝรั่งจะดื่มไวน์กับอาหารเป็นส่วนใหญ่ ไวน์ ไม่ต้องผสมอะไร เพียงรักษาอุณภูมิไว้พอเหมาะกับประเภทของไวน์ เวลาเสิร์ฟก็รินประมาณ ¾ ของแก้วหรือครึ่งแก้ว แขกก็จะค่อยๆ จิบไปเรื่อยๆ ให้หมดพนักงานก็จะมารินให้ใหม่ ถ้าดื่มสุราก็จะสั่งเป็นแก้ว เช่น ถ้าเป็นวิสกี้ โดยหลักๆ แล้วก็มีเพียงการเตรียมเพื่อเสิร์ฟแบบสุราอย่างเดียวหรือสุราเพียวๆ (Straight up) หรือใส่น้ำแข็ง 2-3 ก้อน (On the Rock) หรือผสมเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น โซดา หรือน้ำ ฯลฯ (With mixer) แล้วพนักงานก็นำเสิร์ฟเป็นแก้ว แขกก็ค่อยๆ จิบไปเรื่อยๆ บางครั้งนั่ง 2-3 ชั่วโมงดื่มไป 2-3 แก้ว
สังคมจีนก็จะนิยมดื่มสุราเป็นแก้วเล็กๆ ไม่ผสมอะไร สังคมญี่ปุ่นก็ดื่มเป็นแก้วเล็กๆ คล้ายสังคมจีน ถ้ามีการดื่มสุราผสมหรือค๊อกเทลก็จะมีวิธีการดื่มคล้ายๆ ตะวันตก
ทีนี้ลองมาดูการดื่มสุราแบบส่วนใหญ่ของสังคมไทย เวลาฝรั่งสั่งสุราเช่น “One whisky, please” หรือ “สุรา 1 ที่” นั่นหมายถึงวิสกี้ 1 แก้ว ส่วนที่ว่าจะผสมอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับแขกชาวไทยการสั่ง 1 ที่ จะหมายถึง 1 ขวดใหญ่ (ประมาณ 750 ml) พร้อมน้ำแข็งและน้ำเปล่าหรือโซดา คือ 1 ชุดเต็ม ฝรั่งดื่มกันคนละ 1 แก้วโดยค่อยๆ จิบไปเรื่อยๆ แต่ชาวไทยกระดกครั้งหนึ่งแทบหมดแก้วแล้ว ด้วยความรวดเร็ว ฝรั่งก็มีการผสมเครื่องดื่มอย่างอื่นด้วยไม่มากรายการเท่าไร
ส่วนที่มีผลกระทบกับการบริการคือ ยกตัวอย่างเช่นมีแขกที่เป็นลูกค้าชาวไทย 1 โต๊ะ 6 คน สั่งวิสกี้ 1 ขวด ลองมาดูการสั่งการผสมวิสกี้ของแขกแต่ละคนตามที่มีพบเจอกันบ่อยๆ (ตามคำพูดที่แขกสั่ง)
เหล้า 1 ฝา ผสมน้ำ
เหล้า 1 ฝา ผสมโซดา
เหล้า 1 ฝาผสมน้ำและโซดา
เหล้า 2 ฝาผสมโค้ก
เหล้า 1 ½ ฝา ผสมน้ำครึ่ง โค้กครึ่ง
เหล้า 2 ฝา ผสมโซดา น้ำแข็งแค่ 2 ก้อน
ฯลฯ
นี่เพียงแค่ตัวอย่างคร่าวๆ ทั้งนี้ในชีวิตจริงมีอะไรที่แปลกประหลาดมากกว่านี้อีก ลองนึกถึงว่าถ้าเราเป็นพนักงานที่ต้องเสิร์ฟแขก 6 คนที่โต๊ะนี้ จะจำได้ไหม จะให้จดก็แทบจดไม่ทัน จำก็ยาก เวลาเสิร์ฟก็ต้องให้ถูกคน
ที่หนักเข้าไปอีก ชงเสิร์ฟให้แขกคนแรก ไล่ไปเรื่อยๆ ยังไม่ทันถึงคนที่ 6 คนแรกกระดกเหล้าหมดแก้วแล้ว เรียกให้ไปชงแก้วใหม่ให้อีกแล้ว ถ้าให้พนักงานเสิร์ฟที่เป็นฝรั่งที่ชำนาญในการบริการเป็นอย่างดี มาเจอกับแขกชาวไทยก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน
เป็นหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้จัดการร้านต้องกำหนดวิธีในการรับมือให้กับพนักงานด้วย ไม่ใช่จ้างพนักงานน้อย แต่จะให้บริการให้ไห้ทั่วถึงทุกอย่าง บริการทุกอย่าง ไม่ช้าพนักงานก็ลาออกไปหางานที่ไม่ยุุ่งอะไรขนาดนี้