Written by : Nattapol Klanwari
การฝึกอบรมแต่ละครั้งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการจ้างวิทยากรมาจากภายนอก ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร ดังนั้นการฝึกอบรมแต่ละครั้งต้องคาดหวังให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด และเพื่อให้ทราบผลที่ได้รับก็จำเป็นต้องมีการประเมินผลการอบรม แต่การประเมินผลอย่างไรที่จะตรงจุดที่บ่งบอกถึงความคุ้มค่าในการฝึกอบรมครั้งนั้นๆ
การประเมินผลการอบรมหรือการฝึกอบรมเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้ทราบผลของการจัดการฝึกอบรมว่าได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าต่อการลงทุนและเวลาในการจัดหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นการอบรมภายในกันเองใข้หัวหน้าแผนกหรือผู้จัดการเป็นวิทยากรก็ตาม ยังไงซะก็ต้องถือว่าเป็นการลงทุน เพราะต้องเสียเวลาและการจัดการไม่มากก็น้อย
โดยทั่วไปการประเมินผลการฝึกอบรมก็มักจะเป็นเรื่องทั่วไปในการจัดการฝึกอบรม เช่น สถานที่จัดการฝึกอบรมเป็นอย่างไร ความเหมาะสมของเวลาที่จัด อาหาร เบรค เอกสารประกอบการฝึกอบรม การสอนของวิทยาการ ฯลฯ ซึ่งมักเน้นไปที่รูปแบบการจัดซะเป็นส่วนใหญ่ บทความนี้ผมจะแบ่งการประเมินผลการฝึกอบรมเป้นเรื่องๆ ให้เห็นได้ชัดเจน มีเป้าหมายเฉพาะเรื่อง ดังนี้
1. การประเมินผลการจัดการฝึกอบรม คือประเมินการจัดของเจ้าภาพที่จัด เช่น ฝ่ายบุคคล (Personnel Department), ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Department), ฝ่ายฝึกอบรม (Training Department) แล้วแต่ว่าองค์กรใดแบ่งฝ่ายการดำเนินงานการจัดการการฝึกอบรมไว้อย่างใด เน้นวัดผลด้านการจัดการฝึกอบรม (Organizing) การประเมินผลการฝึกอบรมจะประกอบด้วย
- ความเหมาะสมของสถานที่
- ความเหมาะสมของวัน เวลาที่จัด
- ความเหมาะสมของระเวลาในการฝึกอบรม (เช่น 3 ชั่วโมง, 6 ชั่วโมง)
- ความเหมาะสมของอาหารและเครื่องดื่ม
- ความเหมาะสมของการลงทะเบียน
- ความเหมาะสมของเอกสารประกอบการฝึกอบรม
- ความเหมาะสมของการอำนวยความสะดวกต่างๆ
- ฯลฯ
2. การประเมินตัววิทยากร (Trainer, Instructor, Facilitator, ฯลฯ) แล้วแต่ว่าที่ใดจะเรียกอย่างไร เน้นการวัดผลที่ความสามารถของตัววิทยากรเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย
- ความสามารถในการถ่ายทอด
- ความสามารถในการตอบคำถาม
- ความสามารถและความรู้ตรงกับเรื่องที่ฝึกอบรมหรือไม่
- ความสามารถในการยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน
- ความสามารถในการควบคุมเวลา
- การให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมหรือไม่
- เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกปฏิบัติในเรื่องที่จำเป็นหรือไม่
- ความสามารถในการใช้การสื่อสารอย่างเหมาะสม
- การสร้่างบรรยากาศในใช้เรียน
- ฯลฯ
ตามที่ผมได้ระบุในบทความที่ผ่านๆ มาแล้วว่าเป้าหมายหลักของการฝึกอบรมคือการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change) ของผู้เข้าเข้ารับการอบรม ประกอบด้วยด้านความรู้ (Knowledge), ทักษะความสามารถ (Skill), และทัศนะคติ (Attitude) จะเห็นว่าการประเมินผลการฝึกอบรมในข้อ 1 และ 2 นั้นยังไม่สามารถวัดหรือประเมินว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ความสามารถและทัศนคิแต่อย่างใดเลย ได้เพียงแต่วัดหรือประเมินการจัดและตัววิทยากร ที่ประเมินหรือวัดผลระหว่างหว่างการฝึกอบรมและหมดเวลาการอบรมในวันนั้นๆ แค่นั้นเอง
การประเมินผลการฝึกอบรมที่จะวัด Change ด้านความรู้ ความสามารถหรือทักษะ และทัศนคติดังกล่าวต้องใช้เวลา การติดตามและความต่อเนื่องของการติดตาม ไม่สามารถวัดได้ในวันทีสิ้นสุดการฝึกอบรม โดยเฉพาะทักษะด้านการจัดการและพฤิติกรรม ดังนั้นต้องแยกในข้อ 3 นี้เพื่อให้บังเกิดผลลัพธ์ด้านการเปลี่ยนแปลง (Change) ซึ่งต้องทำเป็นโครงการหรือโปรเจ็ก ดังข้อ 3 นี้
3. โครงการติดตามและประเมินผลหลังการฝึกอบรม
3.1 ทักษะงานด้านเทคนิค (Technical Area) ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมักเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ เป็นการติดตามประเมินผลการฝึกอบรมงานเรื่่องที่เกี่ยวกับงานเทคนิค เช่น
- Housekeeping
- ปูเตียงได้เร็วขึ้นและเรียบหลังเข้ารับการรับการฝึกอบรมหรือไม่
- เลือกใช้น้ำย่าเคมีได้ตรงการการใช้งานหรือไม่
- ฯลฯ
- Front Office
- รับลงทะเบียนเข้าพักได้ถูกต้องตามขั้นตอนมาตรฐานที่ได้รับการอบรมไปหรือไม่
- พูดอธิบายข้อมูลที่แขกต้องทราบก่อนส่งแขกเข้าห้องพักหรือไม่
- ฯลฯ
- F & B Service
- อธิบายรายการอาหารได้ชัดเจนหรือไม่
- จับถือจานถูกต้องตามมาตรฐานที่ได้รับการฝึกอบรมไปหรือไม่
- ฯลฯ
- Handyman
- เปลี่ยนกีอกน้ำได้ตามมาตรหรือไม่
- ให้บริการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์ให้แขกได้สำเร็จหรือไม่
- ฯลฯ
3.2 ทักษะด้านการจัดการที่เกี่ยวกับเทคนิคและพฤิตกรรม (Management Skill and Behavior) ผู้เข้ารับการอบรมหรือฝึกอบรมมักเป็นระดับผู้จัดการหรือระดับบริหาร
- ด้านการจัดการที่เกี่ยวกับเทคนิค (Management Skill) สามารถตรวจสอบโดยวัดความถูกต้องได้เลย เช่น
- การอ่านบัญชีงบดุล
- การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการอนุมัติต่างๆ เช่น อนุมัติการสั่งซื้อ อนุมัติการจ่ายเงิน ฯลฯ
- ฯลฯ
- ด้านการจัดการที่เกี่ยวกับพฤติกรรม เมื่อผ่านการเรียนรู้หรือฝึกอบรมแล้ว ต้องใช้เวลาและการติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อวัดผลการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าผู้จัดการหรือผู้บริหารโดยเฉพาะท่านที่มีประสบการณ์และยิ่งอายุมากขึ้นมักมีการยึดติดกับสไตล์หรือพฤติกรรมที่ได้เคยปฏิบัติมา การจะให้ปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลาและค่อยๆ ปรับ เช่น ผู้จัดการบางท่านเคยชินกับการพูดแบบ "เหน็บแนม" ก็มักจะเคยชิน ซึ่งการสไตล์การพูดแบบนี้จะฉุดรั้งความเป็นผู้นำ ดังนั้นเมื่อผ่านการอบรมเรื่องการเป็นผู้นำก็ต้องปรับสไตล์การพูดให้ไม่เป็นเช่นเดิม ซึ่งไม่ง่ายเลย
ตัวอย่างหัวข้อการฝึกอบรมด้านทักษะการจัดการพฤติกรรม- ภาวะการเป็นผู้นำ
- การสื่อสารของผู้บริหาร
- การเจรจาต่อรอง
- การพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจ
- การตัดสินใจ
- ฯลฯ
ดังนั้นการจัดการฝึกอบรม ไม่ใช่เพียงแค่จัดขึ้นให้มีและเสร็จสิ้นไปเป็นครั้งๆ อบรมเยอะแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เช่น
- อบรมเรื่อง "เทคนิคการขาย" แต่ยอดขายเท่าเดิม
- อบรมเรื่อง "การสื่อสาร" โดยเฉพาะการพูด แต่หัวหน้ายังพูดเหน็บแนมอยู่อย่างเดิม
- อบรมเรื่อง "การตัดสินใจ" แต่ผู้จัดการยังไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย ปล่อยไปตามกรรม
- ฯลฯ
ดังนั้นต้องเน้นให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลง (Change) หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่า
ใคร > ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร > อย่างไร > เมื่อไร > ใครเป็นผู้ประเมินว่าเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน > และถ้าไม่เปลี่ยนจะทำอะไร อย่างไรต่อไป
หัวใจของการฝึกอบรมอยู่ตรงนี้แหละครับ ถ้าไม่ติดตามประเมินผล ผู้เข้ารับการอบรมยังปฏิบัติเช่นเดิมเหมือนก่อนการเข้ารับการอบรม ปีหน้าก็อบรมเรื่องเดิมกันอีก เบื่อทั้งผู้จัดและผู้เข้ารับการอบรม หรือหาอบรมเรื่องใหม่ต่อไปอีกโดยเรื่องเก่าก็ยังไม่พัฒนา
Big thanks for all images to https://pixabay.com/