Written by Nattapol Klanwari
การทำงานแต่ละอาชีพย่อมต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เฉพาะด้านในการทำงาน เช่น ช่างไม้ก็ต้องมี เลื่อย สิ่ว ฆ้อน ฯลฯ, ศิลปินนักวาดภาพก็ต้องพู่กัน จานสี ฯลฯ, ทหาร ตำรวจก็ต้องมีปืน ฯลฯ, พ่อครัวหรือกุ๊กก็ต้องมีมีด เขียง หม้อ กะทะ ฯลฯ ซึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ก็ต้องศึกษาเรียนรู้การใช้ หยิบจับ ใช้ให้ชำนาญ เพื่อการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ อย่างเป็นมืออาชีพ พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่มก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ต้องหยิบ จับ ใช้ อย่างมืออาชีพเช่นเดียวกัน
อุปกรณ์ เครื่องมือของใช้ในการบริการอาหารและเครื่องดื่ม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ มีด จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้ว ฯลฯ ได้ระบุไว้ในบทความต่างๆ ในเว็บนี้แล้วขอให้เปิดดูได้ บทความนี้จะอธิบายการหยิบ จับ ถืออุปกรณ์และเครื่องมือในการบริการอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ
การหยิบ จับ ถือเครื่องมือและอุปกรณ์ในการบริการอาหาร อย่างถูกวิธี นอกจากจะช่วยให้การทำงานบริการได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ เร็ว และถูกสุขอนามัยแล้ว ยังจะทำให้พนักงานที่ปฏิบัติงานดูดีมีความชำนาญหรือความเป็นมืออาชีพ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแขกผู้ใช้บริการ มั่นใจและไว้วางใจการมาใช้บริการ ยินดีพร้อมจ่ายเพื่อแลกกับการได้รับการบริการจากความเป็นมืออาชีพของพนักงาน
การหยิบ จับ และใช้อุปกรณ์และเครื่องมือในการบริการอาหารและเครื่องดื่ม มีดังนี้
1. การหยิบ จับ มีด ช้อนส้อม
โดยทั่วไปจะหยิบหรือจับด้วยมือข้างที่ถนัด เช่น ผู้ที่ถนัดกขวาก็ใช้มือขวาหยิบจับ โดยหยิบหรือจับบริเวณด้าม ไม่หยิบหรือจับบริเวณที่จะสัมผัสกับอาหารอย่างเด็ดขาด
หยิบหรือจับบริเวณที่เป็นด้ามจับ
ไม่หยิบหรือจับบริเวณที่ต้องสัมผัสกับอาหารอย่างเด้ดขาด
การวางมีด ช้อน ส้อม ก็ควรวางในที่ใส่เป็นแนวนอน เพื่อให้สามารถหยิบจับบริเวณด้ามได้อย่างสะดวก
การใส่ช้อน ส้อมในภาชนะ โดยให้ด้ามอยู่ด้านล่าง ให้บริเวณที่สัมผัสอาหารอยู่ด้านบน ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้ต้องหยิบหรือจับบริเวณที่จะสัมผัสกับอาหาร จึงไม่แนะนำให้ทำ
2. การจับแก้วเครื่องดื่ม
ถ้าเป็นแก้วทรงตรงก็จับบริเวณก้นแก้ว
ถ้าเป็นแก้วมีก้าน เช่นแก้วไวน์ จับ ถือแก้วที่บริเวณขาหรือก้านของแก้ว
ไม่จับบริเวณปากแก้ว เพราะปากแก้วเป็นบริเวณที่แขกต้องสัมผัสขณะดื่มเครื่องดื่มและยังเป็นการไม่สุภาพ สำหรับแขกผู้ใช้บริการอาจจับบริเวณนี้แก้วก็แล้วแต่แขกเพราะเป็นแก้วที่แขกใช้ดื่มเอง
ไม่จับโดยการรวบปากแก้ว
การถือแก้วไวน์หรือแก้วก้านหลายๆ ใบด้วยมือสามารถทำได้ จะให้สำหรับการขนย้ายไปจัดโต๊ะอาหารเพื่อจะได้รวดเร็วและไม่ต้องใช้ถาดให้เกะกะ จะใช้เฉพาะตอนเตรียมจัดโต๊ะอาหารโดยยังไม่มีแขกเข้าห้องอาหาร
3. การจับ ถือจาน
3.1 การจับ ถือจานใบเดียว ถือด้วยมือที่ถนัด โดยทั่วไปก็จะถือด้วยมือขวาเพราะจะสะดวกที่จะเสิร์ฟด้านขวามือของแขกด้วย
ถือจานใบเดียว ให้หัวแม่มือขนานไปตามขอบจานไม่ล้ำลงไปในบริเวณที่ใส่อาหาร
ไม่จับหรือถือจาน โดยหัวแม่มือหรือส่วนล้ำลงไปในบริเวณที่ใส่อาหาร ถึงแม้จะยังไม่มีอาหารก็ตาม
3.2 การถือจานอาหารหลายใบ
โดยทั่วไปจานอาหารก็ใส่ถาดเสิร์ฟ ถือเข้าไปเสิร์ฟให้แขกที่โต๊ะอาหารแต่หากเป็นจานอาหารใหญ่ เช่น จานอาหารหลัก หรือการจานเล็กที่ถือเข้าไปเสิร์ฟแขกก็สามารถถือด้วยมือเปล่าครั้งละมากกว่า 1 หรือ 2 จานก็ได้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ถือว่าเป็นการถือจานอาหารที่เป็นแบบสากลที่ใช้กันทั่วไป
การถือจานอาหารสองใบ ถือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เช่น ถนัดขวาก็ถือข้างซ้าย เพราะมือขวาที่ถนัดจะรับจากมือข้างซ้ายมาเสิร์ฟ การถือแบบนี้ก็จะถือได้ครั้งละ 3 จาน ในมือขวาอีก 1 จาน
วิธีการถือ
นำจานใบแรกมาใส่ในมือซ้าย ให้หัวแม่มือและนิ้วก้อยพาดอยู่ด้านบนขอบจาน เพื่อเตรียมไว้รองรับจานใบที่สอง
นำจานใบที่สองวางเหนือจานใบแรก โดยให้ขอบจานด้านล่างพาดอยู่บนนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อยที่เตรียมรองรับอยู่แล้ว เมื่อจะหยิบจานลงเสิร์ฟก็จะหยิบจานใบบนนออกก่อน พูดง่ายๆ ว่าใบที่ใส่มือซ้ายก่อน หยิบออกทีหลัง จานที่ยกใส่มือซ้ายทีหลังก็หยิบออกก่อน
4. การถือถาด
ถาดถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เพราะจะช่วยให้มีการขนย้ายสิ่งต่างๆ ได้เป็นครั้งละจำนวนมากๆ ช่วยให้การทำงานรวดเร็ว รบกวนแขกน้อยครั้ง
4.1 การถือถาดด้วยมือเดียว
ใช้สำหรับการเสิร์ฟที่โต๊ะอาหารของแขก ถือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เช่นถนัดขวาจะถือข้างซ้ายเพราะจะได้ใช้มือขวาที่ถนัดหยิบยกสิ่งต่างๆ จากถาดลงที่โต๊ะอาหาร การถือ กางนิ้วมือทั้งห้านิ้วใต้ถาดเพื่อรองรับถาดให้สมดุล
4.2 การถือถาดด้วยสองมือ
ใช้สำหรับการขนย้ายไปวางในที่ใกล้ๆ
4.3 การแบกถาด
ใช้สำหรับการขนย้ายอาหารและุอุปกรณ์ต่างๆ ไปยังสถานที่ที่ไกล เช่น การบริการของ Room Service ที่ต้องนำไปเสิร์ฟถึงห้องพักแขก หรือการแบกของหนักๆ เช่น ถาดที่ใส่ภาพชนะที่เก็บออกมาจากโต๊ะของแขกเข้าไปยังที่ล้างจาน โดยจะแบกด้วยมือที่ไม่ถนัด เช่นถนัดขวาก็แบกด้วยมือข้างซ้ายเพราะจะได้ใช้มือขวาที่ถนัดทำอย่างอื่น เช่น การกดปุมลิฟท์ กันการเปิดปิดประตู การแบกจะแบกโดยให้นิ้วมือชี้ไปด้านหลัง กางนิ้วมือออกให้มากที่สุดเพื่อรับน้ำหนักถาดได้เป็นบริเวณที่กว้าง
5. การจับถือซ้อน ส้อมให้เป็นคีม (Tongs)
สำหรับช่วยในการเสิร์ฟหรือการทำงานบริการต่างๆ
จับถือด้วยมือที่ถนัด ถนัดขวาก็ถือขวา ถือโดยให้ช้อนอยู่ด้านล่าง ให้ส้อมอยู่ด้านบน ถ้าคีบอาหารที่มีลักษณะที่แบนก็หงายส้อมขึ้น (Flat) แต่ถ้าคีบอาหารที่หนาๆ เช่น สเต็กชิ้นหนาๆ ก็กลับให้ส้อมคว่ำลง
การถือแบบคีม หรือ Tongs คว่ำส้อมลงมาหาช้อนเพื่อคีบอาหารชิ้นหนาๆ
การจับถือช้อน ส้อม แบบนี้โดยมากจะใช้ช้อนเสิร์ฟและส้อมเสิร์ฟ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าช้อนที่ใช้สำหรับทานอาหาร การจับถือแบบนี้จะใช้ในการเสิร์ฟอาหารให้แขกหรือการปรุงอาหารพิเศษข้างๆ โต๊ะแขกแบบมี Showmanship เช่น การตักแบ่งอาหาร หรือทำของหวานต่างๆ เช่น Flambé ต่างๆ บางครั้งก็จะเรียกการจับถือแบบนี้ว่า Silver Technique
ก่อนให้พนักงานเข้าเสิร์ฟที่โต๊ะอาหารต้องฝึกให้พนักงานชำนาญเกี่ยวกับเรื่องการหยิบ การถือ การจับ การยก อุปกรณ์และสิ่งของเหล่านี้ให้ดีเสียก่อน
อย่ารีบส่งทหารที่ยังไม่ชำนาญในการใช้อาวุธลงสนามรบครับ