Written by: Nattapol Klanwari
การพัฒนาของประเทศต่างๆ ในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะมีพื้นฐานมาจากการศึกษาเป็นรากฐานก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด
ต้องเป็นที่ยอมรับว่าการศึกษาของประเทศไทยคงยังเป็นระบบที่ต้องอาศัยรั้วของสถาบันการศึกษาเป็นหลัก ต้องมีสถานที่ มีการจัดการ มีครูอาจารย์ เด็กๆ นักเรียนก็มาเข้ารับการศึกษาในรั้วสถาบันการศึกษาเหล่านี้กัน ไม่ว่าขั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัยต่างๆ สถาบันต่างๆ หรือมหาวิทยาลัย อาจมีจำนวนน้อยมากๆ ที่พ่อแม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้ด้วยตนเองหรือรวมตัวกันจัดกันเองอย่างที่เรียกว่า Home School นับวันช่องว่างด้านการศึกษาจะยิ่งกว้างขึ้นๆ ครอบครัวที่มีโอกาสให้บุตรหลานได้ก็ดีไป แต่ยังมีเยาวชนอีกจำนวนมากที่ยังขาดแคลนโอกาส
ตามที่ผมได้เริ่มทดลองใช้หลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษที่ผมเรียกเองว่า Easy English Project - EE Project ท่านที่ยังไม่เคยอ่านรายละเอียดโครงการดังกล่าวสามารถคลิ๊กเข้าไปดูได้ที่ https://trainingreform.com/index.php/training-blog/156-training-blog-65 โดยผมได้นำเข้าไปแนะนำให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ ใช้ในการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนพูดสื่อสารให้ได้ ตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่จะเรียกว่า English for Fun ผมจะเดินทางไปแนะนำต่อยอดและประเมินผลประมาณ 3-4 เดือนต่อครั้ง หรือทุกครั้งที่ผมได้กลับมายังประเทศไทย
กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปดำเนินการทดสอบประเมินผลการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีทั้งนักเรียนทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านการเรียนในระบบนี้ ผ่านมาบ้างและที่ผ่านมาแล้วหลายบท การทดสอบประเมินผลประกอบด้วย
1. การทดสอบหลัก Grammar and Reading
2. การฟัง Listening
3. การสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ Interview in English
แบบทดสอบผมได้ทำการสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยยึดหลักจากหัวข้อที่กำหนดให้นักเรียนได้ฝึกบนแนวความที่ว่า สอนอะไรก็ทดสอบอันนั้นและเน้นให้นักเรียนทำได้เพื่อความมีกำลังใจ ใช้แนวทางในรูปแบบของ TOEIC เพื่อให้นักเรียนคุ้นเคย แต่ส่วนที่ใช้เวลาและความอดทนในการทดสอบนักเรียนของผมคือการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษที่ต้องใช้เวลา ครั้งนี้ทดสอบเฉพาะนักเรียนสาขาการโรงแรมก่อนประมาณ 130 คน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่สำหรับการสอบของ TOEIC จะไม่มีการสัมภาษณ์เช่นนี้
การทดสอบประเมินผลการใช้ภาษาอังกฤษภาคทฤษฎีทั้ง Grammar and Reading และ Listening ผ่าน Google Form โดยใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียนเอง สามารถทราบผลการทดสอบได้ทันที
ทดสอบเสร็จ รวบรวมคะแนนเสร็จ สี่โมงเย็นก็รีบนั่งรถตู้เดินทางไปวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายที่ได้ให้ความสนใจในการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นแห่งต่อไป
วิทยาลัยเทคนิคเชียงรายมีการเรียนการสอนระดับ ปวช.และ ปวส. เน้นทางด้านช่างเทคนิค มีจำนวนนักเรียนประมาณ 3,000 คน มีครูสอนภาษาอังกฤษทั้งหมด 6 คน นักเรียนแต่ละคนจะมีโอกาสเข้าขั้นเรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 2 คาบติดต่อกัน นอกเหนือจาก 2 คาบนี้แล้วจะไม่ได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษเลย ท่านผู้อ่านก็คงมองเห็นปัญหาการเรียนการสอนที่จะให้นักเรียนสนทนาภาษาอังกฤษให้ได้ว่า ค่อนข้างเลือนลางเต็มที และนี่ก็คือภาพสะท้อนความเป็นจริงของประเทศไทยได้เลย ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการการเรียนการสอนหรือกิจกรรมใดๆ การที่นักเรียนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ยังคงอยู่อย่างนี้ต่อไป
ภาคเช้าผมได้พูดคุยทำความเข้าใจในหลักการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษกับผู้บริหาร หัวหน้าแผนกต่างๆ คุณครูที่สอนภาษาอังกฤษโดยตรงและคุณครูในวิชาต่างๆ ซึ่งครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มอธิบายในแนวความคิดเบื้องต้น หลักการใหญ่ๆ ก็คือ
1. ต้องเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้มีการใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน เน้นน้อยๆ แต่บ่อยๆ แทนที่จะเป็นสัปดาห์ละ 2 คาบ เป็นวันละ 20 นาทีทุกวัน ทำพร้อมๆ กัน
2. กำหนดพูดเรื่องที่จะต้องพูดเป็นรายสัปดาห์
3. คุณครูทุกท่านไม่จำเป็นต้องเฉพาะภาควิชาภาษาอังกฤษหรือต้องจบเอกภาษาอังกฤษ ต้องให้ความร่วมมือ
หลังจากนั้นก็ทำการยกตัวอย่างสาธิต โดยเริ่มที่ I am......., You are..........., ใกล้ตัวที่สุดเช่น I am Somchai. You are John. โดยเน้นการทำมือชี้ตัวเองและคู่สนทนาประกอบให้ชัดเจน จากนั้นจึงเพิ่ม He is........, She is.......... แค่นี้สำหรับผู้เรียน 20 คน ก็เป็นชั่วโมงแล้วครับ ที่จะสามารถขจัดความขัดเขินออกไปได้ ผู้เรียนก็จะพูดและจำเองว่า I ต้องต่อด้วย am, You ต้องต่อด้วย are ไม่ต้องมีกระดาษ ไม่ต้องมีกระดานไวท์บอร์ด ขึ้นตารางให้วุ่นวาย
ท่านผู้บริหารและคุณครูต่างให้ความร่วมมือในการทดลองปฏิบัติกันเป็นอย่างดี แรกๆ ก็ขัดเขินสักนิดแต่หลังจากผ่านไปสัก 20 นาทีฝึกหลายๆ รอบก็เริ่มชิน และมั่นใจว่าเป็นหลักการที่เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การใช้กับนักเรียน
ช่วงบ่ายทดลองสาธิตการสอนนักเรียนสายช่าง เพื่อให้คุณครูเห็นตัวอย่างว่าสามารถทำได้จริง นักเรียนกล้าที่จะทำครับเพียงแต่ขาดวิธีการ การจัดการ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาทำ
ท่านผู้อ่านสามารถเข้าดูรายละเอียดและแนวทางของโครงการดังกล่าวได้ที่ https://trainingreform.com/index.php/training-blog/156-training-blog-65
นอกจากนั้นท่านยังสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยโรงเรียนต่างๆ ให้สร้างบรรยากาศของภาษาอังกฤษได้โดยแนะนำให้คุณครูเปิดการ์ตูนภาษาอังกฤษของ English Fairy Tales ให้เด็กๆ นักเรียนดูผ่านลิ๊งค์ที่ผมจัดไว้แล้วที่ https://trainingreform.com/index.php/training-blog/222-training-blog-119
เนื่องในวันครู 2563 ที่เพิ่งผ่านไป ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความเคารพและระลึกถึงพระคุณของคุณครูทุกท่านที่ทำงานด้วยความยากลำบากในการอบรมสั่งสอนนักเรียน โดยการนำโครงการนี้ไปแนะนำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ดังที่ทำอยู่และจะทำต่อไป