Written by : Nattapol Klanwari
สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับกีฬากอล์ฟก็อาจจะงงๆ สักหน่อยว่า ที่ว่าแค็ดดี้นั้นตกลงเขาทำหน้าที่อะไรกันบ้างขณะปฏิบัติงาน แค่แต่งตัวแต่งหน้าสวยๆ อย่างเดียวหรือ ในความเป็นจริงมีอะไรที่เป็นวิชาชีพที่มากกว่าที่คิดครับ
ประเทศไทยมีสนามกอล์ฟประมาณ 200 แห่ง กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เป็นสนามกอล์ฟของภาคเอกชนที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ประมาณ 160 แห่ง และเป็นสนามกอล์ฟของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 40 แห่ง แค่ในจังหวัดภูเก็ตมีสนามกอล์ฟอยู่ 6 แห่ง ทำรายได้เข้าจังหวัดได้ประมาณปีละ 500-600 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Thai PBS News)
สนามกอล์ฟมาตรฐานจะมีด้วยกัน 18 หลุม ระยะทางทั้งหมดจากหลุม 1 ถึงหลุม 18 ประมาณ 7,000 หลา แต่ละแห่งอาจมากน้อยแตกต่างกันไป คิดเป็นประมาณ 6,300 เมตร หรือ 6 กิโลเมตรกว่าๆ (1 หลา = 90 ซม. / 1 เมตร = 100 ซม.) แต่ระยะทางในการเดินแบบไม่ใช้รถหรือขับรถจริงจะกินระยะทางมากกว่านี้ ซึ่งอาจถึง 7 กิโลเมตรกว่า โดยเฉพาะผู้ที่ยังเล่นไม่ค่อยเก่ง เวลาตีลูกออกไปแล้วไม่ตรง ไปด้านซ้ายบ้าง ขวาบ้างก็ต้องเดินตามไปตีลูก เรียกว่าเดินซิกแซ็กนั่นแหละครับ ตามมาตรฐานกำหนดว่าทั้ง 18 หลุม ให้ใช้เวลาในการเล่นประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง
ในส่วนของสนามกอล์ฟของภาคเอกชนก็จะมีทั้งแบบที่รับนักกอล์ฟทั่วไป เรียกกันง่ายๆ ว่าสนามเปิดคือใครก็ได้สามารถเข้าไปเล่นได้ และมีอีกประเภทหนึ่งคือต้องเป็นสมาชิกอาจเป็นสมาชิกตลอดชีพหรือรายปีก็แล้วแต่ เรียกง่ายๆ ว่าสนามปิด บุคคลภายนอกจะเข้าไปเล่นได้ก็ต่อเมื่อต้องมีบุคคลที่เป็นสมาชิก (Member) เป็นผู้พาไปเล่นในนามแขกของสมาชิกเอง (Guest) สมาชิกก็จะจ่ายน้อยกว่าเพราะได้จ่ายค่าสมาชิกไปแล้ว สำหรับแขกของสมาชิกที่เข้าไปเล่นด้วยก็จะจ่ายแพงกว่าสมาชิก
บางสนามก็กำหนดให้เล่นได้ก๊วน (Team) ละไม่เกิน 4 คน บางสนามให้เล่นได้ก๊วนละไม่เกิน 5 หรือ 6 คน บางแห่งกำหนดว่าต้องใช้รถกอล์ฟ (Electric Golf Cart หรือ Club Car) บางแห่งไม่กำหนด บางแห่งกำหนดให้ใช้รถกอล์ฟในช่วงเช้า ช่วงบ่ายไม่บังคับ การไม่ใช้รถกอล์ฟทางสนามก็จะมีรถลาก (Push Golf Cart) ภาษาพูดจะเรียกกันว่ารถลากแต่เวลาใช้งานจริงแค็ดดี้จะเข็นไปข้างหน้า
ภายในสนามกอล์ฟจะมีบริการอื่นๆ อีก นอกเหนือจากสนามกอล์ฟในการเล่นกอล์ฟ เช่น ห้องอาหาร สปา บางแห่งอาจมีที่พักหรือโรงแรม รีสอร์ท ด้วย บทความนี้จะพูดถึงเฉพาะแค่อาชีพแค็ดดี้ที่ให้บริการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเล่นกอล์ฟของนักกอล์ฟ สนามกอล์ฟแต่ละแห่งจะมีแค็ดดี้ทำงานอยู่อย่างน้อยประมาณ 100 คน บางแห่งมากกว่า 200 คน คิดคร่าวๆ ว่าแห่งละ 150 คน 200 แห่งก็รวมประมาณ 200x150 = 30,000 คนเป็นอย่างน้อย ไม่รวมผู้ที่ทำงานในส่วนอื่นๆ ในสนามดังที่กล่าวมาข้างต้น
ลองมาดูค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้เล่นกอล์ฟจะต้องใช้จ่ายในการเล่นกอล์ฟแต่ละครั้งแน่ๆ ที่สนาม สำหรับ 18 หลุม
- ค่าธรรมเนียมการใช้สนาม (Green Fee) 18 หลุม ประมาณ 1,000 - 4,500 บาท แล้วแต่ชื่อเสียงของสนาม สนามที่มีชื่อเสียงก็จะแพง
- ค่ารถกอล์ฟ (Club Car Rent Fee) ประมาณ 500 - 900 บาท แต่ละสนามราคาไม่เท่ากัน ถ้าสนามบังคับก็ต้องจ่ายแน่ๆ บางสนามให้นั่งได้คนเดียว บางสนามให้นั่งได้สองคน (หารกันก็ถูกลง) อายุเยอะ เข่าไม่ดี เดิน 8 กม. กลางแดดร้อนๆ 38 - 40 องศาซี ไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะครับ (พาแค็ดดี้ลำบากไปด้วย)
- ค่าธรรมเนียมการใช้บริการแค็ดดี้ (Caddie Fee) ประมาณ 300 - 600 บาท บางท่านมีเงินมากก็จ้างแค็ดดี้ 2 คนไปเลย หยิบเหล็ก 1 คน กางร่มอีกต่างหากอีก 1 คน
- ค่าทิปให้แค็ดดี้ (Tips) บางแห่งอาจบวกรวมไว้แล้วใน Caddie Fee แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัติก็จะให้ประมาณอย่างน้อยเท่ากับค่าแด็ดดี้ เช่น ถ้าค่าแค็ดดี้ 300 บาท อย่างน้อยก็จะให้ 300 บาท เป็นอย่างน้อย
- อาจมีค่าลูกกอล์ฟสำหรับซ้อมที่สนามไดร์ก่อนการออกรอบจริงอีก ถาดหรือถุงละ 60 - 100 บาท
- ค่าเครื่องดื่มหรืออาหารตามซุ้ม (Kiosk) ที่อยู่ระหว่างทางในการเล่นในสนาม เครื่องดื่มกระป๋อง ราคาประมาณกระป๋องละ 40 - 60 บาท
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มหลังจากเล่นเสร็จแล้ว ถ้าเล่นช่วงเช้าก็จะทานอาหารกลางวัน ถ้าเล่นช่วงบ่ายก็จะทานอาหารเย็น ส่วนใหญ่จะทานกัน ถ้าไม่ที่คลับเฮ้าส์ (Club House) ก็ไปตามร้านอาหารข้างนอก เพราะกอล์ฟจะไม่ค่อยเล่นคนเดียว เล่นกันเป็นทีมก็มีเรื่องต้องพูดคุยกันต่อ
ทีนี้มาดูหน้าที่ของแค็ดดี้กันว่าเขาต้องทำหน้าที่อะไรกันบ้าง ผมจะระบุเพียงสิ่งที่เขาต้องทำ (What to do) เหมือนเป็นเพียงแค่ Job Description ยังไม่ลงรายละเอียดในการทำว่าทำอย่างไร (How to do) ซึ่งเป็น SOP - Standard of Procedure เพราะรายละเอียดของการปฏิบัติในแต่ละเรื่องค่อนข้างมีรายละเอียดมากโดยเฉพาะเรื่องกฎ กติกา และสภาพสนาม
การเตรียม
1. แต่งกายตามระเบียบของสนาม บางสนามกำหนดให้ต้องสวมถุงมือ บางแห่งกำหนดเป็นสีขาว ระมัดระวังเรื่องกลิ่นปาก กลิ่นตัว
2. เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ในการออกปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วย
ทียาว (Long Golf Tees)
ทีสั้น (Short Golf Tees)
ที่ซ่อมกรีน (Green Divot Repair)
มาร์คเกอร์ (Ball Maker)
ผ้าเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์กอล์ฟ (Golf Towel)
ผ้าคลุมถุงกอล์ฟกันฝน (Golf Bag Rain Cover)
การ์ดสำหรับจดแต้ม (Golf scorecard)
ปากกา (a Pen)
บางสนามอาจต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วย
พัด (a Fan)
เก้าอี้ (Golf Sport Chair)
ที่เขี่ยบุหรี่ (Ashtray)
3. เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสนาม เช่น ความเร็วที่ของลูกกอล์ฟที่พัตบนกรีน (Green Speed) และระยะจากของหลุมก็คือที่ปักธง เพราะในแต่ละวันหรือ 2-3 วันเจ้าหน้าที่สนามจะย้ายหลุมบนกรีนไปตามบริเวณต่างๆ ของกรีนเพื่อไม่ให้หญ้าช้ำเฉพาะจุด และทำให้เกิดความท้าทายที่เปลี่ยนไปของนักกอล์ฟที่มาเล่นบ่อย บางวันหลุมอาจเลื่อนมาด้านหน้าเท่ากับระยะจะน้อยลง แต่ถ้าเลื่อนออกไปไกล ระยะก็จะไกลขึ้น แค็ดดี้ต้องทำการบวกลบแล้วแจ้งให้นักกอล์ฟทราบก่อนการเล่น
4. รับถุงกอล์ฟจากรถยนต์ที่นักกอล์ฟเดินทางมาถึง ถ้าเป็นไปตามลำดับ ก็มอบส่วนหนึ่งของคูปองในการรับการทำงานให้กับนักกอล์ฟ เพื่อให้ทราบว่าแค็ดดี้หมายเลยใดเป็นผู้รับถุงกอล์ฟและออกรอบด้วยกัน
5. นำถุงกอล์ฟไปจัดใส่รถกอล์ฟ (Club Car) ต้องรัดถุงด้วยสายรัดให้แน่น เพราะถ้ารัดไม่แน่นอาจหลุดออกจากรถขณะขับรถได้ เมื่อเกิดความเสียหายจากการทำงานของแค็ดดี้ แค็ดดี้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย เตรียมที่คราดทราย (Sand Rake) ใส่รถให้เรียบร้อย คอยจนถึงเวลาที่นักกอล์ฟจะออกรอบ (Tee Time)
ที่คราดทราย (Sand Rake)
นับจำนวนไม้กอล์ฟที่อยู่ในถุง จดใส่การ์ดที่สนามจัดไว้ เพื่อให้นักกอล์ฟเซ็นรับทราบจำนวนที่มีอยู่
เตรียมถุงทรายหรือกระบอกใส่ทรายเพื่อการกลบรอยไดว็อท (Divot) ที่อาจเกิดขึ้นจากการตีลูกกอล์ฟของนักกอล์ฟ
6. ก่อนถึงเวลา นักกอล์ฟอาจขอไปซ้อมที่สนามไดร์ (Driving Range) หรือสนามพัต (Putting Green) ก่อน แค็ดดี้ต้องเตรียมลูกกอล์ฟและเหล็กที่นักกอล์ฟต้องการใช้ไปให้ และดูแลจนซ้อมเสร็จ
ถามนักกอล์ฟว่าใช้ลูกกอล์ฟเฉพาะสำหรับการพัตบนกรีนหรือไม่ นักกอล์ฟบางคนอาจมีลูกกอล์ฟที่ทำเครื่องหมายลูกศรเพื่อใช้วางทิศทางในการพัตบนกรีนไว้ต่างหาก
7. การทำงานขณะออกรอบ
7.1 ที่แท่นทีออฟ (Tee Off)
- เตรียมทียาว นักกอล์ฟบางคนอาจใช้ของตนเองที่มีอยู่
- เตรียมไดร์เวอร์ (Driver) หรือที่เรียกว่าหัวไม้ 1
- เตรียมลูกกอล์ฟ เช็คดูว่าลูกกอล์ฟยี่ห้อะไร เบอร์อะไร และต้องเทียบกับแค็ดดี้คนอื่นด้วย เพราะอาจยี่ห้อและเบอร์ตรงกัน ถ้าตรง คนใดคนหนึ่งอาจต้องเปลี่ยนหรือทำเครื่องหมายเฉพาะที่ลูกกอล์ฟ
- ขานบอกข้อมูลของหลุมนี้ เช่น หลุม 1 พาร์ 4 ระยะ 350 หลา และหากมีอุปสรรค์อะไรขวาง เช่น ขวาเป็น OB (Out of Bounds) คือออกนอกบริเวณที่เล่นถ้าตีออกต้องเสียแต้ม หรือควรตีไปทางทิศทางใด ต้องแจ้ง เช่น หลุมนี้ควรเล็งไปที่....... เป็นต้น จะต้องแจ้งเช่นนี้ทุกหลุมที่เริ่มตี ยกเว้นถ้าเป็นนักกอล์ฟที่เคยมาเล่นบ่อยๆ แล้วบอกว่าไม่ต้องบอก
- คอยมองตามลูกที่นักกอล์ฟตีออกไปว่าไปตกบริเวณใด
- เช็ดทำความสะอาดที และไม้กอล์ฟ ใส่ที่ครอบหัวไม้กอล์ฟ (Golf Head Cover) เก็บเข้าถุงกอล์ฟให้เรียบร้อย
- หากนักกอล์ฟตีแล้วเกิดรอยที่ขุดหญ้าหรือพื้นผิวหน้าของกรีนต้อง นำทรายที่เตรียมไว้มาเทกลบซ่อมให้เรียบร้อย
การกลบรายไดว็อท (Divot) ด้วยทราย ใช้เท้าเหยียบให้เรียบ
7.2 ระหว่างแฟร์เวย์ (Fairway) คือการเล่นระหว่างแท่นทีออฟและกรีน
- พานักกอล์ฟไปยังบริเวณที่ลูกกอล์ฟตกอยู่ หากมีลูกกอล์ฟของผู้เล่นตกอยู่ข้างหลังต้องหลบให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังได้ตีก่อน
- แจ้งระยะจากลูกกอล์ฟที่ตกอยู่ ถึงหลุมหรือธง เช่น เหลืออีก 70 หลาถึงธง
- หยิบเหล็กที่นักกอล์ฟต้องการส่งให้
- กลบรอยไดว็อทที่อาจเกิดขึ้น
- รับเหล็กคืนจากนักกอล์ฟ ทำความสะอาดและเก็บ
- หากนักกอล์ฟตีลูกกอล์ฟตกบ่อทราย (Bunger) หยิบเหล็กที่นักกอล์ฟต้องการให้
- ดูทิศทางที่ลูกไปตก
- ใช้ที่คราดทรายเกลี่ยทรายให้เรียบไม่ให้เป็นหลุมหรือบ่อ ที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับนักกอล์ฟที่เล่นตามมา แล้วอาจตีลูกกอล์ฟมาตกตรงนี้แล้วตีลูกยาก
7.3 ขณะอยู่บนกรีน (Green) เพื่อการพัตลูกลงหลุม
- นำมาร์คเกอร์วางหลังลูก แล้วหยิบลูกกอล์ฟขึ้นมาทำความสะอาด นักกอล์ฟบางคนอาจต้องการมารค์และหยิบลูกขึ้นมาเอง
- นำธงออกจากหลุม เมื่อนักกอล์ฟตีลูกขึ้นกรีนหมดทุกคนแล้ว หากนักกอล์ฟต้องการให้นำออก
- นักกอล์ฟที่สูงอายุบางคนอาจให้แค็ดดี้หยิบลูกและวางตั้งลูกให้ทั้งสองอย่างเลย (ปวดเข่า ปวดหลัง ก้มไม่ไหว)
- ถ้านักกอล์ฟถามทิศทางในการพัต ก็ให้คำแนะนำ เช่น พัตไปทางซ้ายของหลุมกะประมาณห่างจากปากหลุมสักระยะเท่า 1 ลูกกอล์ฟ เป็นต้น (บนกรีนจะมีความลาดเอียงที่นักกอล์ฟอาจมองไม่ออก แต่แค็ดดี้ที่ทำงานอยู่ประจำจะทราบดี)
- หากมีรอยลูกที่ตกลงพื้นกรีน หรือจากปุ่มรองเท้า ทำให้ผิวหน้าอของกรีนยุบลงไปจะต้องทำการซ่อมให้เรียบร้อย
- ปักธงกลับเข้าหลุม
- รับพัตเตอร์ เช็ดทำความสะอาด ใส่ที่ครอบ เก็บเข้าถุง
- จดแต้มใน Scorecard
ปฏิบัติเช่นนี้ในหลุมต่อๆ ไปจนครบ 18 หลุม ซึ่งนักกอล์ฟบางคน อาจเล่นต่ออีก 9 หลุม หรือ อีก 18 หลุมก็ได้
การทำหน้าที่ระหว่างทางของ 18 หลุม
- ให้สัญญานนักกอล์ฟว่าสามารถตีลูกกอล์ฟได้หรือไม่ได้ เช่น ก๊วนหน้ายังไปไม่ห่างมาก เพราะลูกอล์ฟอาจไปตกใส่นักกอล์ฟข้างหน้า
- ถ้านักกอล์ฟไม่รักษาเวลาในการเล่น เช่น พูดคุยกัน ไม่ยอมตีลูกกอล์ฟสักที ต้องแจ้งเตือน กระตุ้นให้เล่นเร็วขึ้นด้วยความสุภาพ
- ช่วยแจ้งกฎกฏิกาหากนักกอล์ฟถกเถียงกัน ซึ่งอาจเป็นกฎเฉพาะของสนาม
- แจ้งการบริการของสนามเช่น ถ้าผ่านซุ้มน้ำ (Kiosk) ว่าจะแวะซื้อเครื่องดื่มหรือไม่ หรือหากเป็นซุ้มสุดท้ายที่เปิดบริการต้องแจ้งให้ทราบด้วยเช่นกัน
- หากมีนักกอล์ฟคนใดที่สามารถทำ Hole In One คือการตีลูกกอล์ฟครั้งเดียวแล้วลูกกอล์ฟลงหลุมเลย ต้องรีบประสานหัวหน้าผู้ดูแลเกมส์กอล์ฟ (Golf course Marshal) เพื่อมาทำเอกสารบันทึกรายละเอียดพร้อมพยานผู้ที่ร่วมอยู่ในก๊วน ส่งเอกสารให้ผู้จัดการ เพื่อนักกอล์ฟจะได้รับประกาศนียบัตรและของรางวัลที่ตั้งเกณฑ์ไว้จากทางสนาม
ตัวอย่างประกาศนียบัตรรับรองการทำ Hole In One ที่ออกโดยสนามให้กับนักกอล์ฟ
8. เมื่อเสร็จสิ้นการเล่นกอล์ฟ
- พานักกอล์ฟกลับมายังคลับเฮ้าส์
- แนะนำบริเวณที่เป่าทำความสะอาดรองเท้า
- ให้นักกอล์ฟตรวจสอบจำนวนไม้กอล์ฟให้ตรงกับจำนวนที่จดอยู่ในการ์ดก่อนออกเล่นกอล์ฟ
- มอบสกอร์การ์ดให้นักกอล์ฟ
- นำถุงกอล์ฟไปส่งยังรถของนักกอล์ฟที่จอดอยู่
- นำรถกอล์ฟไปทำความสะอาด ล้าง เช็ด แล้วขับไปส่งที่โรงจอดรถ
9. บางสนามจะมีการจัดเวรทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ อีก อาจสลับกันทำกันเดือนละครั้งหรือสองครั้ง เช่น เดินกลบรอยไดว็อทที่ยังกลบไม่หมด หรือถอนหญ้าที่ผิดประเภท เช่น แห้วหมู เป็นต้น
นี่ยังไม่รวมเรื่อง มารยาท การดูแล เช่น การเตรียมเก้าอี้ให้นั่ง การพัดให้ยามร้อน การกางร่ม ฯลฯ และยังมีเรื่องการที่ต้องรองรับอารมณ์และมารยาทของนักกอล์ฟที่เอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ ตีเสียก็โทษแค็ดดี้ หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเล่น นักกอล์ฟเล่นพนันแล้วทะเลาะกัน หรือต้องทนรับฟังปัญหาทางบ้านที่นักกอล์ฟระบายให้ฟัง และอีกมากมาย ซึ่งผมขอแยกไว้อีกบทความจะได้ไม่เยอะเกินไปสำหรับบทความนี้
สนามกอล์ฟในต่างประเทศแถบยุโรปและอเมริกาจะไม่ค่อยมีแค็ดดี้ให้บริการแบบนี้ หน้าที่ต่างๆ ที่กล่าวมา นักกอล์ฟต้องทำเองหมด แบกถุงกอล์ฟเอง ดูระยะเอง เช็ดเหล็กเอง กลบรอยไดว็อทเอง คราดทรายเอง ประเทศไทยถึงเป็นสวรรค์ของนักกอล์ฟชาวต่างประเทศ ทิปที่เขาจ่ายสัก 500 บาท ก็เท่ากับประมาณ 16 US$ ก็เท่ากับการทานเบอร์เกอร์ เฟรนซ์ฟราย โค้ก ตอนกลางวันเท่านั้นเอง
เป็นอย่างไรบ้างครับหน้าที่ของแค็ดดี้สนามกอล์ฟ ท่านที่เล่นกอล์ฟอยู่แล้วก็ให้ไปเถอะครับทิป สัก 1,000 หรือ 2,000 หรือมากกว่าก็ได้ เพื่อเป็นกำลังใจให้น้องๆ