Written by : Nattapol Klanwari
ท่านผู้อ่านเคยมีอาการอย่างนี้บ้างไหมที่ อยู่ที่ทำงานทั้งวันผ่านไปหลายชั่วโมงไม่ได้งานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่พอฮึดขึ้นมาหรือด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ปั่นงานสักครึ่งชั่วโมงกลับได้งานเป็นชิ้นเป็นอันมากมาย ทั้งที่เวลาผ่านไปตั้งหลายชั่วโมงก็จริงแต่ไม่ได้อะไร โดยเฉพาะตอนใกล้เลิกงานและจะกลับบ้าน เวิร์คดีจริงๆ
ถ้าคำตอบของท่านตอบว่าใช่ นั่นก็แสดงว่าท่านเข้าสู่หลักหรือกฎ 80/20 ของ Pareto เข้าแล้ว มาทำความรู้จักท่านผู้ให้กำเนิดหลักการนี้ก่อนครับ
หลักการ 80/20 นี้ เป็นหนึ่งในหลายผลงาน ที่ค้นพบและเผยแพร่โดย Wilfired Fritz Pareto ชาวอิตาลี (1848 - 1923) ที่เป็นทั้งวิศวกร นักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการเมือง และนักปรัชญา จากแนวความคิดและสมมุติฐานที่ท่านตั้งขึ้นมาว่าสิ่งต่างๆหรือพฤติกรรมต่างๆ จะมีเพียง 20% ที่ก่อให้เกิดผลอีกอย่างถึง 80% หรือพูดอีกทางหนึ่งคือ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น 80% มาจากผลของการกระทำจาก 20% จากนั้นก็ได้ทำการพิสูจน์ด้วยการทำการสำรวจ โดยพบว่า ที่ดินในประเทศอิตาลี 80% ถือครองโดยกลุ่มคน 20% ของประชากรทั้งประเทศ
Wilfired Fritz Pareto
ก่อนที่จะไปถึงการใช้ประโยชน์จริง เราลองมาสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเรากันก่อนดีกว่า ว่าหลัก 80/20 นี้สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของเรากันจริงหรือไม่ คำว่า 80/20 อาจไม่จำเป็นต้องเป็น 80/20 เป๊ะๆ นะครับ แต่เอาเป็นว่า ส่วนน้อยกับส่วนมากก็ได้ครับ
- กระเป๋าที่คุณสุภาพสตรีที่ซื้อไว้ใช้กัน จะมีประมาณ 2 ใบจาก 10 หรือ 20% ที่ใช้บ่อย อีก 80% จะไม่ค่อยได้ใช้
ภาพตัวอย่างของจริงของสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่ต้องย้ายบ้าน
- เสื้อผ้าที่เรียงอยู่ในตู้ จะใช้บ่อยหรือที่เรียกว่าชุดเก่งหรือตัวเก่งอยู่เพียง 20% อีก 80% นอนนิ่งในตู้
- ถ้วย จาน ชาม ภาชนะกล่องพลาสติก ทีมักชอบซื้อเพราะขณะซื้อก็คิดว่าคงต้องได้ใส่นั่น ใส่นี่ เอาเข้าจริงใช้งานจริงๆ ไม่ถึง 20% ของที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป
- สุภาพบุรุษที่เป็นช่าง หรือชอบงานที่เกี่ยวกับด้านช่างต่างๆ มักชอบซื้อเครื่องมือต่างๆ มากมาย ถ้ามีเครื่องมือออกวางตลาดใหม่ เป็นต้องซื้อไว้เป็นเจ้าของ ซึ่งใช้จริงก็ประมาณ 20% ที่ใช้บ่อยๆ
นั่นเป็นตัวอย่างที่เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ ทีนี้ลองมาดูทางด้านอื่นๆ บ้าง
- ปัญหาต่างๆ ที่สร้างความวุ่นวายหัวใจให้เราต้องหงุดหงิด เช่น ถ้าเป็นคุณครูที่สอนเด็กๆ ก็จะพบว่า ปัญหาที่วุ่นวายเป็นอันมาก 80% นั้นมาจากนักเรียนเพียงไม่เกิน 20% ของนักเรียนทั้งหมด
- เราไปร้านอาหารตามสั่ง อาจเพราะไม่อยากทำเอง หรือเบื่อไม่รู้จะทานอะไร แต่พอไปร้านจริงๆ พลิกเมนูดูหลายรอบ แล้วก็สั่งอย่างที่เคยสั่ง ไม่เกิน 2 ใน 10 รายการที่ร้านมีอยู่ เราพูดเล่นๆ ว่า ผัดสิ้นคิด (กะเพรา ไข่ดาว)
- การพูดภาษาอังกฤษ เราลองสังเกตดูก็ได้ เราใช้ทฤษฎีที่เรียนมาเป็นสิบปี ท่องคำศัพท์าเยอะแยะ ใช้ในการพูดจริงแทบไม่ถึง 20% ของที่เรียนมา
- เวลาซื้อคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะแบบตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊ค โดยมากก็จะเลือกสเป็คสูงๆ CPU ต้องตัวล่าสุด เร็วสุด Hard Disk, Ram ต้องจุมากๆ ลงโปรแกรมก็ต้องเยอะๆ ไว้ก่อน สำหรับคนทำงานทั่วไป หนีไม่พ้นกับ MS Word, PowerPoint และ Excel ที่ใช้ทำงาน เสนองานเป็นชิ้นเป็นอัน แม้แต่ MS Word ที่ใช้กันอยู่ ผมว่าเราก็ใช้งานไม่ถึง 5% ของศักยภาพจริงของโปรแกรมที่จัดมาให้ด้วย และเจ้า 10๔ หรือ 20% ที่ใช้กันอยู่นี่แหละที่สร้างงานสร้างเงินหลักๆ ให้เราถึง 80%
เอาละครับทีนี้เราลองมาพิจารณาการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กันดีกว่า โดยผมจะเน้นไปทางเรื่องงานดีกว่านะครับ
ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนคือ ปัญหาจากการให้บริการโดยเฉพาะจากพนักงาน ก็แน่นอนว่าไม่ใช่จากพนักงานทั้ง 100% จะมีคนที่สร้างหรือก่อปัญหาหรือที่เป็นต้นเหตุจริงๆ ก็ไม่เกิน 20% เราจะเหมาว่าพนักงานสร้างปัญหาทั้งหมดทุกคนไม่ได้ ดังนั้นต้องแยกแยะ และสืบค้นต้นตอของปัญหา ถึงแม้จะได้ตัวคนที่เป็นปัญหามาแล้ว ก็ต้องควานหาสาเหตุอีกต่อไปอีกว่าเพราะอะไร ถ้ามีพนักงานที่ก่อปัญหา 2 คน สาเหตุที่พนักงานทำผิดพลาดของทั้งสองคนนั้นก็อาจไม่เหมือนกันอีก ต้องมีเทคนิควิธีการและให้เวลากับการเกาะติดการค้นหาสาเหตุอย่างจริงจัง
อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่อง รายการอาหาร (Menu) โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่มักจะมีรายการอาหารเยอะๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดเรียกว่า อยากกินอะไรมีให้ได้หมด ถ้าเป็นร้านที่ใหญ่ แขกเยอะรายได้ดี จ้างพนักงานครัวได้หลายๆ คน แต่ละคนมีหน้าที่ประจำ เช่น มือยำ มือแกง มือผัด อย่างนี้ก็โอเค แต่ถ้าร้านไม่ได้ใหญ่มาก มีกุ๊กเปลี่ยนกะรอบละคน การมีรายการอาหารมากๆ จะกลับเป็นตัวการที่สร้างปัญหาความไม่พอใจในการบริการขึ้นมาอีก แทนที่จะตอบโจทย์ว่า อยากทานอะไรก็ได้ทาน แต่กลับทำให้แขกรอนานหรือต้องมาบอกทีหลังว่า อาหารจานนี้ไม่มีเพราะวัตถุดิบหมด เสียมากกว่าได้เข้าไปอีก ดังนั้นก็ต้องพิจารณาทบทวนกันละครับ รายการไหนควรอยู่ถาวรในเมนู รายการไหนควรเพิ่มเป็นเมนูพิเศษในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์
มีตัวอย่างของฝรั่งที่พาแขกของเขา 10 คนไปทานที่ร้านอาหารไทยตอนมื้อกลางวัน ซึ่งมีกุ๊กอยู่คนเดียว ทางร้านรับออร์เดอร์แบบอะลาก๊าต (a la carte) คือแบบเลือกสั่ง แต่ละคนกินแตกต่างกันไป ผลลัพธ์ที่ได้คือ แขกคนแรกทานไปจะหมดจานแล้ว อาหารของคนสุดท้ายยังไม่มาเลย แถมมีคำพูดจากฝรั่งที่พาไปว่า "อาหารแต่ละจานแตกต่างกัน แต่รสชาติคล้ายๆ กัน" หนักเข้าไปอีก
อีกสักเรื่องครับ มีร้านอาหารในต่างประเทศบางร้าน จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยอ้างกับพนักงานว่าที่ร้านนี้แขกให้ทิป (Tips) ดี มากอยู่แล้ว เรียกว่าใครๆ ก็อยากมาทำเพระทิปมากว่าค่าจ้างที่ได้รับอีก แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนคิดอย่างนั้นทุกคน มีพนักงานคนหนึ่งไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ เจ้าของร้านต้องเสียค่าปรับและค่าชดเชยให้พนักงาน เรียกว่าจะประหยัดสัก 20 กลับต้องเสีย 80 ไม่คุ้มค่าเลย
ท่านผู้อ่าน (รวมถึงผมด้วย) ก็ลองพิจารณาดูนะครับว่าจะสามารถประยุกต์หลัก 80/20 ของ Pareto ไปใช้อย่างไร ที่จะทำในส่วนที่สำคัญเพียง 20 แต่สร้างผลสัมฤทธฺิออกมาได้ถึง 80 และในขณะเดียวกันก็หยุดยั้งการทำอะไรแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไป 80% ได้ผลกลับมาเพียง 20%
พูดแล้วก็เข็นบทความนี้ให้จบให้ได้ครับ เพราะถ้าไม่เสร็จยืดเยื้อ จะกลายเป็นใช้เวลาไป 80 ได้ผลเพียง 20
ขอให้ทุกท่านทำงานให้สนุกครับ