Written by : Nattapol Klanwari
การเดินทางไปต่างประเทศส่วนใหญ่หลายๆ ท่านก็จะเดินทางด้วยเครื่องบินแล้วก็นั่งรถยนต์ต่อไปยังที่ต่างๆ เรามาเปลี่ยนบรรยากาศเดินทางด้วยรถบัสข้ามประเทศกันบ้าง คือเดินทางจากโตรอนโต้ ประเทศแคนาดาไปยังรัฐเพนซิลวาเนียร์ประเทศสหรัฐอเมริกากันดีกว่า ผมจะเน้นรูปที่ถ่ายมาประกอบการบรรยาย โดยเฉพาะที่หลายท่านต้องการทราบมากที่สุดคือเรื่องค่าใช้จ่าย
ผมมีภาระกิจไปเยี่ยมพญาติที่เรียนอยู่ที่ Penn State University รัฐ Pennsylvania ประเทศอเมริกา ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Toronto, Canada ประมาณ 500 กิโลเมตร เดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ครึ่ง ค่าตั๋วเครื่องบินก็ประมาณ 450 USD$ และข้อสำคัญต้องไปแวะต่อเครื่องอย่างน้อย 1 จุด อาจไปต่อที่ Detroit (DTW) หรือ Philadelphia (PHL) หรือ Dulles (IAD) ถ้าขับรถยนต์ไปเองก็ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง
แต่ผมเลือกที่จะเดินทางโดยรถบัส โดยใช้บริการของ Greyhound Bus ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 12 ชั่วโมง แต่ไม่ใช่นั่งรถตลอด 12 ชั่วโมงนะครับ ต้องแวะต่อรถ 2 จุดคือที่ Buffalo และที่ Dubois ฝั่งอเมริกา ค่าตั๋วรถบัสไป-กลับ 70 USD$ เลือกเดินทางไปตอนกลางวันจะได้เห็นวิวทิวทัศน์และจะได้ถ่ายรูปมาฝากท่านผู้อ่านด้วย (จริงๆ เลย ก็คือประหยัดเงินในกระเป๋านั่นเอง ท่านผู้อ่านก็คงจะเดาออกอยู่แล้ว)
เว็บไซท์ของ Greyhound Bus https://www.greyhound.com/en/
เมื่อจองตั๋วรถบัสเสร็จเรียบร้อย เราสามารถเลือกที่จะพริ้นท์ตั๋วที่ส่งมาทางอีเมล์ที่เราให้ไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเลือกที่จะไปรับตั๋วเองที่สถานีรถบัสก็ได้แต่ต้องเสียค่าค่าธรรมเนียมการออกตั๋ว 5 CD$ ทั้งนี้ตั๋วต้องอยู่ในรูปแบบเอกสารเท่านั้น จะแสดงโดยโชว์จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือไม่ได้
ก่อนออกจากบ้านก็ต้องเช็คสภาพอากาศก่อนครับ เช็คหน้าจอทีวีนี่แหละทันเหตุการณ์ที่สุด รถออก 08.15 ต้องไปเตรียมตัวก่อนรถออกก่อน 20 นาที โชคดีที่เช็คสภาพอากาศก่อน เช้าวันที่จะเดินทาง -2 องศาซี หิมะและฝนตกปลอยๆ ต้องอัดเครื่องกันหนาวให้พร้อม เดินหิ้วกระเป๋าฝ่าหิมะและฝนปลอยๆ ไม่สนุกเลย แม้จากห้องพักผมเดินไปสถานีรถบัสประมาณ 25 นาทีก็ตาม
ภาพพยากรณ์อากาศทางทีวีอยู่หัวมุมของจอทีวี
ลวกไข่ทานสัก 2 ฟอง น้ำส้มสัก 1 แก้ว ขนมปังปิ้งสัก 1 แผ่น กาแฟ 1 แก้ว รองท้องไว้ก่อนจะได้ไม่ต้องไปเสียเงินทานข้างนอก
ระหว่างทางเดินไปสถานีรถบัส 7.15 น. แล้วยังดูมืดๆ อยู่เลยครับ (ถนนในเมืองโตรอนโต้) รถยนต์ก็ยังไม่เยอะแต่พอสายๆ สัก 8 โมงเช้ารถก็จะเต็มไปหมด เพราะเป็นเส้นหลักที่คนขับรถไปทำงานกัน
มาถึงสถานีรถบัส ก็รีบเช็คตารางเวลาเดินทางของรถบัสเพื่อเช็คชานชาลา (Platform) และที่สำคัญคือออกตรงเวลาหรือมีการ Delay หรือเปล่า ที่รถเข้าจอด สถานีไม่ใหญ่ครับ รถบัสจะเข้ามาก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่จะให้ขึ้น ไม่ได้จอดค้างไว้เยอะๆ
บรรยากาศตอนเข้ายังเงียบเหงาอยู่ครับ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องความสะอาด นอนกับพื้นได้เลย
บริเวณสถานีรถบัส Toronto Bus Terminal
กำหนดรถบัสออกเวลา 8.15 แต่ Boarding หรือเรียกขึ้นรถก่อน 20 นาที พอเวลา 7.55 ผู้โดยสารก็ไปยืนรอต่อแถวกันแล้ว จะมีพนักงานมาช่วยรับกระเป๋าที่ต้องไว้ที่ใต้ท้องรถจัดใส่ให้ จากนั้นผู้โดยสารก็ต้องแสดงบัตรโดยสารที่ได้พริ้นท์มาแล้ว หรือที่ไปรับเองที่เคาน์เตอร์แต่ต้องเสียเงินค่าออกตั๋ว ถ้าผู้โดยสารที่เดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศอเมริกาต้องแสดงวีซ่าอเมริกาที่ยังไม่หมดอายุให้กับผู้เช็คตั๋วซึ่งก็คือคนขับนั่นเอง สำหรับผู้ที่เดินทางอยู่ในประเทศแคนาไม่ต้องแสดงเอกสารประจำตัวอะไร
ภายในรถสภาพดี ปรับอุณหภูมิให้อุ่น มีไวไฟให้ใช้ในรถตลอดทาง ไม่ต้องมี Password ให้ยุ่งยากด้วย มีช่อง USB ให้เสียบสำหรับชาร์จไฟโทรศัพท์ และช่องสำหรับเสียบไฟบ้าน (110 V) มีห้องสุขาบนรถ (ไม่มีกลิ่นเหม็นแม้นั่งหลายชั่วโมง) เวลาเดินขึ้นต้องเว้นที่นั่งสองแถวหน้าทั้งซ้ายขวาที่เขาจัดไว้ให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เดินลำบาก จะมีป้ายติดไว้ให้เห็น
บรรยากาศริมเส้นทางที่เดินทางในเขต Niagara Fall นี่ขนาด -2 C เท่านั้นนะ มืดๆ คลึ้มๆ ไม่เห็นผู้คนเดินไปเดินมา ถ้าใครออกมาเดินก็แปลกละ
นั่งรถมาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ก็เดินทางผ่านด่านเขตพรมแดนระหว่างประเทศแคนาดาและอเมริกาที่รถทุกคันต้องผ่านช่องเพื่อยื่นเอกสารกับเจ้าหน้าที่ในป้อม รถทุกคันเข้าแถวเรียงกันทีละคัน รถยนต์ที่ผ่านการตรวจแล้วไม่มีปัญหาอะไรก็แล่นต่อเข้าไปยังเขตอเมริกาได้เลย สำหรับรถยนต์คันใดที่มีปัญหาหรือติดขัดอะไรก็ต้องแวะไปจอดที่ที่ให้จอดแล้วเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน สำหรับรถบัสโดยสารทุกคันต้องแวะที่สำนักงาน ผู้โดยสารต้องนำกระเป๋าและสัมภาระทุกอย่างลงจากรถบัสและไปผ่านด่านครวจคนเข้าเมืองของอเมริกา เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เดินออกอีกประตูที่อยู่ถัดไปเพื่อไปขึ้นรถบัสเพื่อเดินทางเข้าอเมริกาต่อไป และแน่นอนว่าการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษแสดงเอกสารโดยเฉพาะวีซ่าที่แสดงอยู่ในพาสปอร์ต คำถามที่พบเจอบ่อยคือ
Why do you come to America?
Where are you going?
Who do you go to meet?
How many days will you stay in America?
ถ้าตอบได้เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัย มาทำอะไร ไปพบใคร อยู่กี่วัน ฯลฯ ฟังออกตอบได้ เอกสารครบถูกต้อง เป็นอันว่าได้เข้าอเมริกาแน่นอน
ด้านหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองของอเมริกา Buffalo (ข้างในห้ามถ่ายภาพเลยไม่มีภาพมาฝากครับ)
รถบัสแล่นออกจากด่านตรวจคนเข้าเมือง Buffalo ขึ้นทางด่วนเข้าอเมริกาแล้ว
ตอนนี้อยู่ในเขต Buffalo อเมริกา อยู่ตรงข้างกับน้ำตกไนแองการ่า น้ำตกตกทางฝั่ง Buffalo แต่จุดชมวิวที่สวยงามอยู่ฝั่ง Niagara Fall ของแคนาดา ซึ่งผมเคยมาน้ำตกไนแองการ่าเมื่อปี น่าจะ 1999 ตอนที่พาพนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่มมาแข่งขัน Youth Skill Olympic Competition ทีเมืองมอลทรีออล ในนามของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และก็ได้พาคณะมาชม ก็มองเห็นฝั่ง Buffalo ก็คิดในใจว่าสักวันต้องไปยืนที่ฝั่ง Buffalo ให้ได้ แล้วก็ได้มาจริงๆ
พอขึ้นรถบัสแล่นได้สัก 5 นาที รถบัสก็มาจอดที่สถานีรถบัส Buffalo ผมก็ต้องลงเพราะต้องเปลี่ยนรถบัสคันใหม่ ต้องรออีก 3 ชั่วโมงสำหรับรถบัสคันใหม่ ที่จะต้องเดินทางไปต่อรถบัสอีกคันที่ Dubois
บรรยากาศสถานีรถบัส Buffalo Bus Terminal
ฝั่งอเมริกาจะเรียกห้องน้ำว่า Restroom ถ้าฝั่งแคนาดาจะเรียกว่า Washroom ก็แปลกดีนะครับอยู่ติดกันแท้ๆ แต่ก็เรียกแตกต่างกัน ท่านใดมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มาแชร์กันบ้างนะครับ
ร้าน Tim Hortons เป็นที่พึ่ง ร้านกาแฟแบรนด์นี้เป็น Restaurant Chain เป็น Quick Service Restaurant ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแคนาดา ณ สิ้นปี 2018 มีสาขาทั้งหมด 4,846 แห่ง กระจายอยู่ 14 ประเทศทั่วโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโตรอนโต้
แค่ Grilled beef wrap 1 ชิ้น กับกาแฟแก้วกลาง Medium Size 1 แก้ว ราคา 8.99 US$ แล้วครับ ถ้าท่านที่ทานจุไม่อิ่มแน่ๆ และที่สถานีก็มักจะมีคนที่เดินมาขอเศษเงิน ก็จะเข้ามาพูด Do you have some change? ซึ่งก็หมายถึงเศษเงินทอนที่เวลาเราซื้อของแล้วได้เงินทอนเป็นเศษเหรียญกลับมาครับ เขาจะไม่พูดขอด้วยคำว่า Money แต่ใช้คำว่า Change เขาเรียกเศษเงินทอน แต่สำหรับเราก็มากอยู่นะครับ เช่น ถ้า 50 Cent ของอเมริกาของเราก็ ประมาณ 15 - 16 บาท
ตารางการเดินทางต่อไปยัง Dubois นั่งรออยู่ประมาณ 3 ชัวโมง ข้อสำคัญต้องเช็คเวลารถออกและชานชาลา (Platform) ให้ดี จะได้ไม่พลาด
และแล้วถึงเวลาขึ้นรถบัสไป Dubois มีเสียงประกาศให้ขึ้นรถได้ที่ชานชาลาหมายเลขที่เท่าไร ก็ไปยื่นตั๋วที่พริ้นท์มาแล้วก็ขึ้นรถ รถบัสคันที่ผมนั่งมีผู้โดยสาร 6 คน รถจะใช้เวลาวิ่งประมาณ 4 ชั่วโมงไปถึง Dubois และจาก Dubois ต้องเปลี่ยนรถบัสอีกคันเพื่อเดินทางไปยัง State College ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่ผมจะไป
เหตุการไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อรถนัสแล่นออกจาก Buffalo ได้สัก 45 นาที ท่ามกลางหิมะที่ตกปลอยๆ อากาศมืดคลิึ้ม แค่บ่าย 3 โมง สถาพอากาศเหมือนสัก ทุ่มครึ่ง รถบัสก็มีอาการกระตุก 2-3 ครั้ง พนักงานขับรถที่เป็นสุภาพสตรีก็ชลอรถแล้วจอดข้างทาง เธอลงไปตรวจสภาพเครื่องยนต์ แล้วก็ขึ้นมาแจ้งว่าเครื่องยนต์เสียไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ และก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานว่าจะทำอย่างไร และกำชับว่าอย่าขึ้นลงรถบ่อยครั้งเพราะจะมีบางคนขอลงไปสูบบุหรี่ เครื่องยนต์ทำงานไม่ได้นั่นก็หมายความว่าไม่สามารถทำเครื่องทำความร้อนในรถได้ ต้องพยายามเก็บความอุ่นที่มีอยู่ไว้ให้นานที่สุด และก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องรอทางสำนักงานส่งรถมารับหรือทำอย่างไร และเมื่อไรก็ยังไม่รู้
คนขับรถโดยสารในอเมริกาและแคนาดา ขับข้ามประเทศ ข้ามรัฐ มีคนขับคนเดียวครับ ทำทุกอย่าง ยกกระเป๋าขึ้น - ลง ตรวจบัตรโดยสาร ตรวจพาสปอร์ต วีซ่าที่ต้องใช้ในการเดินทางข้ามประเทศ ขับรถ สื่อสารกับสำนักงาน ควบคุมเวลา ตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
สภาพริมทางที่รถบัสที่จอเสียอยู่
ในใจก็นึกไปต่างๆ นานา ว่าถ้าไม่มีรถมารับ หิมะตกหนาวจัดมากไปอีก เครื่องทำความร้อนในรถ (Heater) ไม่มี เราก็เป็นคนที่มาจากเมืองร้อนจะทนหนาวไหวไม๊ ฝรั่งเขาคงทนกันได้เพราะเขาคุ้นชินกันแล้ว เราจะทำอย่างไร ขนาดจะเปิดประตูรถยังกลัวความอุ่นในรถหายไปเลย แล้วแต่ะนาทีก็รู้สึกหนาวขึ้นมาเรื่อยๆ โอ จะเอาชีวิตมาทิ้งบนถนนในอเมริกาซะหรือเปล่า คือดูหนังฝรั่งมากไปหน่อยครับเลยรู้สึกอินกะเหตูการณ์
ยังโชคดีที่ในรถบัสยังมีไวไฟให้ได้ใช้อยู่จึงรีบไลน์ไปแจ้งพญาติให้ทราบว่ารถบัสเสียอยู่คงต้องไปถึงช้ากว่ากำหนด ซึ่งแต่เดิมต้องไปถึงปลายทางที่ State College ประมาณ 20.30 คงต้องช้าออกไปแน่ๆ และก็ยังไม่ทราบว่าจะถึงกี่ทุ่ม
ขณะเดียวกันก็มีสามีภรรยาคู่หนึ่งในรถบัสแต่ดัวด้วยชุดดำแบบนักบวชขอให้คนขับรถช่วยโทรไปแจ้งญาติของเขาที่ Dubois ว่าต้องไปถึงช้าเนื่องจากรถบัสเสีย ผมก็สงสัยว่าปัจจุบันแทบทุกคนหรือย่างน้อยคนในครอบครัวคนหนึ่งคนใดก็ต้องมีโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะขณะเดินทางแต่สามีภรรคู่นี้ไม่มีโทรศัพท์มือถือ
ทราบต่อมาภายหลังว่าสามีภรรยาคู่นี้เป็นชาว Amish ที่ย้ายถิ่นฐานจากยุโรปเช่นเดียวกับชาวอเมริกันทั่วไป แต่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมต่างๆ ไว้อย่างเคร่งครัด เช่น การปฏิเสธการใช้ไฟฟ้า และเทคโนโลยีต่างๆ แม้แต่โทรศัพท์มือถือ ไม่มีประกันชีวิต จะตั้งรกรากในรัฐ Pennsylvania เป็นจำนวนมากที่สุด มิน่าละถึงได้พบเจอพวกเขาในแถบนี้มาก ผมไม่กล้าถ่ายรูปเขาเพราะไม่แน่ใจในเรื่องความเหมาะสมและกาลเทศะจึงต้องใช้ภาพจากเน็ต ซึ่งทำให้เรารู้และเข้าใจเห็นภาพกว้างและความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่จะสรุปว่าพอเป็นฝรั่งแล้วจะต้องเป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงๆ เน้นความทันสมัย ฝรั่งที่อนุรักษ์นิยม ปฏิเสธความทันสมัยก็ยังมีอยู่และเป็นจำนวนที่ไม่น้อยด้วย
ท่านที่สนใจสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Amish
เวลาผ่านไปประมาณ 45 นาที่ก็มีรถของช่างมาประสานเรื่องการตรวจสอบเครื่องยนต์ ปลุกปล้ำกันประมาณ 30 นาที่ ก็ได้ผลว่าไม่สามารถซ่อมได้ต้องประสานให้สำนักงานจัดรถบัสคันใหม่มารับและไปส่งยัง Dubois ซึ่งรออีกประมาณ 30 นาทีก็มีรัถบัสคันใหม่มารับ คนขับรถบัสก็ล็อครถคันที่เสียปล่อยทิ้งไว้แล้วนั่งรถบัสคันใหม่ไปกับผู้โดยสารด้วย เพราะต้องบอกเส้นทางการเดินทางให้พนักงานขับรถคันใหม่ทราบ เพราะบนเส้นทางของการเดินรถมีจุดที่ต้องส่งและรับผู้โดยสารใหม่ที่จะขึ้นรถด้วย
ใช้เวลาอีกประมาณ 3 ชั่วโมงก็มาถึง Dubois เวลาก็ประมาณ 21.30 น.
ภาพบรรยากาศสถานีรถบัส Dubois
เปลี่ยนขึ้นรถบัสคันใหม่ต่อไปยัง State College ใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 1 ชั่วโมงกับ 10 นาที ตลอดเส้นทางก็จะมีป้ายเตือนให้ระวังกวางข้ามถนนอยู่ตลอดเวลา และก็มีจริงๆ ครับ คนขับต้องระวังเป็นอย่างมาก และจะเป็นมีกวางอยู่ริมถนนจ้องจะข้ามถนนอยู่มาก โดยสังเกตได้จากดวงตาที่สะท้อนกับแสงไฟจากรถบัสที่ส่องออกไป บนรถบัสคันนี้ก็มีไวไฟเลยรีบไลน์ไปบอกพญาติให้เตรียมทอดไข่เจียวและข้าวสวยให้ด้วย และบอกว่าจะเดินไปเคาะประตูที่ห้องพักเอง เพราะลงจากรถบัสแล้วก็จะไม่สามาถติดต่อทางโทรศัพท์ได้
แล้วก็ถึงซะทีครับ 22.45 น. ณ State College Bus Terminal รัฐ Pennsylvania
นี่แหละครับ Bus Terminal เดินต่อสัก 2 นาทีก็ถึงห้องพักของพญาติ ผมเคยมาแล้วครั้งหนึ่งก็เลยพอจำทางเดินไปห้องพักได้
ถึงอาคารที่พักของพญาติแล้วครับ และนี่คือทางเดินไต่ขึ้นไปซึ่งเป็นด้านหลังตึกนะครับ จะได้ไม่ต้องอ้อมไปเข้าทางด้านหน้าตึก เกือบ 5 ทุ่ม ทานเข้าวสวยหอมมะลิ (ของเวียดนาม) กับไข่เจียวราดน้ำปลา อาบน้ำนอนละครับ สรุปวันนี้ใช้เงินนอกเหนือจากค่ารถบัสไปแค่อาหารกลางวัน 8.99 US$
บทความนี้ผมจบแค่นี้ก่อนนะครับ บทความต่อไปจะได้เล่าประกอบภาพให้ท่านผู้อ่านได้เห็นการใช้ชีวิตของนักศึกษาที่ Penn State University ที่ตั้งอยู่ใน Pennsylvania ซึ่งไม่ใช่ University of Pennsylvania นะครับ คนละแห่งกัน นักศึกษาใช้ชีวิตกันอย่างไร มหาลัยเป็นอย่างไร ค่าเล่าเรียนเท่าไร ค่าใช้จ่าย ที่พัก อาหาร หรือจะหางานพิเศษทำกันได้เท่าไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
อ่านต่อภาคต่อไปโดยคลิ๊กที่นี่ครับ http://www.trainingreform.com/index.php/training-blog/209-training-blog-110