Written by : Nattapol Klanwari
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ในแง่มุมของการให้บริการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการกินการอยู่ ที่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งบางครั้งอาจหาเหตุผลไม่เจอ ใช้ความเชื่อความชอบส่วนตัวเข้ามาตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ ความจริงบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องบอกซะดีกว่า
ผมก็เป็นคอกาแฟคนหนึ่งแต่ก็ไม่ถึงกับติดงอมแงม แต่ถ้าได้ดื่มก็จะรู้สึกดีกว่า (คำแก้ต่างของคนที่ติดนั่นแหละครับ) เริ่มมาตั้งแต่ทำงานโรงแรมโดยเฉพาะสมัยที่ต้องอยู่รอบดึก ง่วงนักก็อาศัยกาแฟเป็นเพื่อนก็เลยดื่มมาเรื่อย ได้ทำในตำแหน่งระดับผู้จัดการเดินไปไหนในโรงแรมก็กาแฟเท่ากับเป็นการตรวจสอบการบริการไปในตัว (ข้ออ้างเพื่อดื่มกาแฟฟรี)
เดินทางไปไหนก็มักต้องแวะดื่มกาแฟ นอกเหนือจากตัวกาแฟแล้วยังเป็นการหาที่พักผ่อนไปในตัว เงียบๆ สบายๆ และส่วนใหญ่ร้านกาแฟก็มักจะจัดและตกแต่งร้านให้น่านั่ง มีบรรยากาศร่มรื่น และถ้ามี WIFI ฟรี มีปลั๊กไฟให้เสียบอะแดปเตอร์ใช้งานโน้ตบุ๊คได้ด้วยยิ่งเป็นที่โปรดปรานเลย (รู้เลยว่าโน้ตบุ๊กเก่า) กาแฟ 1 แก้ว เช็คอีเมล์ ตอบอีเมล์ เช็คไลน์ ตอบไลน์ หรือพิมพ์บทความได้สักบทความหนึ่ง (บทความอย่างที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ด้วยครับ) ก็คุ้มค่าสำหรับผมแล้วครับ ก็อย่างที่ผมมักเขียนเกี่ยวกับความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไม่ได้อยู่แค่ตัวสินค้าแต่เป็นมูลค่ารอบๆ ตัวสินค้าที่จ่ายเงินไป และแต่ละคนก็มีการตีมูลค่านั้นด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ต่างคนต่างความคิด ต่างจิตต่างใจ
วันหนึ่งระหว่างการเดินทางไปติดต่อธุระ ณ ที่แห่งหนึ่ง ก็ต้องแกาแฟสักแก้วสิครับ ผมเดินหาร้านกาแฟอยู่สักพักก็พบร้านกาแฟเล็กๆ เป้นห้องกระจก ติดแอร์ สถานที่น่ารักน่านั่งจิบแกาแฟ เดินตรงรี่ไปยังร้าน ผลักประตูเข้าไป ไม่มีลูกค้าในขณะนั้นสักคน ก็ไม่เป็นไรจะได้นั่งเงียบๆ ดีออก คงพิมพ์ได้สักหนึ่งบทความแน่ๆ
ตรงเข้าไปที่เคาน์เตอร์ไม่เห็นมีพนักงานในเคาน์เตอร์ เห็นป้ายแปะอยู่ที่ด้านหน้าของรายการแกาแฟที่หน้าเคาน์เตอร์อย่างที่เห็นด้านบน ผมก็เข้าใจร้านเล็กๆ เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานถึง 2 คน คนเดี่ยวก็พอ คงไม่ต้องจ้างพนักงานอีกคนมาสำหรับสลับให้อีกคนไปห้องน้ำ ทุกคนก็ต้องมีการพักหรือไปทำธุระส่วนตัวดังที่ระบุในป้ายเช่นกันเป็นธรรมชาติ แต่การสื่อสารออกไปยังลูกค้าที่ต้องการมารับบริการด้านอาหารหรือเครื่องดื่มนี่สิที่อาจทะแม่งๆ หน่อย
ในความเป็นจริงแล้วพนักงานไม่จำเป็นต้องระบุธุระที่ไปทำว่า "ไปห้องน้ำ" ก็ได้ เพราะการไปห้องน้ำก็เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องสุขภัณฑ์ (ขับถ่าย ถึงแม้จะไปแค่ล้างมือก็ตาม คนก็คิดไปแล้ว) เมื่อกลับมาในห้องอาหารก็ต้องทำงานที่เกี่ยวกับอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งให้ความรู้สึกที่ไมค่อยดีเท่าไรสำหรับลูกค้า เราก็รู้สึกไม่ค่อยดีที่เป็นลูกค้ารายแรกหลังจากพนักงานกลับมาจากห้องน้ำ ตรงนี้เป็นเรื่องที่กันไว้ก่อนคนที่เขาไม่คิดก็มี แต่อย่าลืมว่าคนที่คิดก็อาจจะมี
ผมก็เลยนำภาพป้ายของเคาน์เตอร์พนักงาน Security Guard ของที่อพาร์ทเม้นต์ที่ผมพักอยู่มาเป็นตัวอย่าง โดยเคาน์เตอร์นี้เป็นเคาน์เตอร์ Concierge เหมือนพนักงานต้อนรับให้ข่าวสารข็มูล แต่ใช้เป็น Security Gurad ทำงานอยู่รอบละ 1 คน ซึ่งเขาก็ต้องมีการที่ต้องทิ้งเคาน์เตอร์ไปทำธุระเช่นเดียวกับที่ร้านกาแฟที่ผมระบุอยู่ด้านบน โดยเขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ไปลาดตะเวนหรือเดินตรวจ (On Patrol) ซึ่งอาจทำอะไรอย่างอื่นอีก เราก้เข้าใจกันโดยไม่ต้องบอกเรื่องราวทั้งหมด
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นผมเคยมีโอกาสได้เห็นเอกสารการปฏิบัติตนของพนักงานที่จะเข้าทำงานในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง (เซนเซ แปลให้ฟังครับ เพราะเป็นคันจิ) มีข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อพนักงานจะไปห้องน้ำต้องบอกเพื่อนร่วมงานให้ทราบก่อนการไปทำธุระนั้น ซึ่งในการบอกอาจมีลูกค้าได้ยินการพูดบอกดังกล่าว ดังนั้นพนักงานจะต้องพูดด้วยโค้ดหรือระหัสที่เข้าใจกันในกลุ่มพนักงานคือ "ทาเค" ถ้าแปลตัวตัวจะแปลว่า "หน่อไม้" ในกล่มพนักงานจะเข้าใจกันว่าไปห้องน้ำ
สำหรับเราก็คงไม่ต้องเป๊ะขนาดนั้นก็ได้ บางทีก็ดูมากไป แทนที่จะบอกว่า "ไปห้องน้ำ" ก็อาจใช้คำอื่น เช่น ไปประสานงาน (เหมาะหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) และอาจต่อว่า 5 นาที่จะกลับมา หรืออาจจะเขียนเพียงแค่ "อีก 5 นาทีพนักงานจะมาให้บริการ" ก็ได้ หรือท่านผู้อ่านมีข้อความอะไรที่จะแนะนำก็ได้เลยนะครับ ช่วยกันครับ