เราคงได้ยินคนที่อยู่ในวัยทำงานบ่น หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ต้องทำงานเพื่อยังชีพกันว่า เหนื่อยกับงานไม่เท่าไร แต่หนักใจที่ต้องเหนื่อยกับคน แสดงว่าเราไม่ค่อยกลัวเรื่องเนื้องานกันเท่าไร แต่เรื่องที่ทำให้ท้อและเหนื่อยที่สุดคือเรื่องที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่่น
คนส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้มักจะขอทำงานที่ไม่ต้องเกี่่ยวอะไรกับใครมากมาย สังเกตง่ายๆ ว่าพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับงานที่เป็นชิ้นงานเป็นหลักมักจะอยู่ในอาชีพนั้นนาน ถ้าในโรงแรม เช่น แผนกช่าง แผนกแม่บ้าน มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ชุดหนึ่ง ก็ไปก้มหน้าก้มตาทำงานโดยที่ไม่ค่อยมีใครไปวุ่นวายอะไรมาก มีแขกมาคุยด้วยก็ไม่มากเท่าไร (ปกติก็มักจะทำงานตอนที่ไม่มีแขกอยู่ในบริเวณที่ทำงานอยู่แล้ว)
นอกเหนือจากลักษณะงานที่ยุ่งกับคนมากน้อยแล้ว เรื่องของระดับตำแหน่งในงานอาชีพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องเข้าไปเกี่ยวกับคน โดยเฉพาะการที่ต้องไปมีคุณมีโทษกับคนอื่น การทำงานเทคนิค เช่น เป็นช่างก็มีหน้าที่ซ่อมสิ่งต่างๆ เป็นพนักงานขายก็ทำหน้าที่ขายไป เป็นกุ๊กก็ทำหน้าที่ปรุงอาหารไป คือทำงานเป็นชิ้นให้สำเร็จด้วยตนเอง แต่การเลื่อนระดับตำแหน่งขึ้นไป ซึ่งในขั้นแรกก็จะเป็นหัวหน้างาน (Supervisor) ก็จะเริ่มมีความยุ่งเกี่ยวกับความเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว
จากภาพข้างบนจะเป็นว่า การข้องเกี่ยวกับผู้คนหรือต้องรับผิดชอบในการจัดการหรือประสานกับคนในองค์กรในระดับปฎิบัติการ (Staff) จะน้อย เวลาและความรับผิดชอบจะยุ่งกับงานเทคนิค (Hand Skill) เป็นส่วนใหญ่ ระดับหัวหน้างาน (Supervisor) ก็จะเริ่มยุ่งเกี่ยว รับผิดชอบและประสานงานกับคนในองค์กรมากขึ้น โดยที่จะต้องลดการทำงานในการปฎิบัติการน้อยลง และในระดับผู้จัดการก็แทบจะไม่ได้ยุ่งกับงานเทคนิค หรืองานปฎิบัติ หรือลงทำเองเท่าไร จะเป็นเรื่องประสานและรับผิดชอบเรื่องคนเป็นส่วนใหญ่
ท่านผู้อ่านที่ทำงานอยู่ในระดับผู้จัดการคงเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ว่าช่วงวิกฤต หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะทำหน้าที่ไปรอดหรือไม่ จะเป็นที่ยอมรับในองค์กรหรือไม่ก็คือ ช่วงการเลื่อนตำแหน่งจากพนักงานระดับปฏิบัติการขึ้นไปเป็นหัวหน้างาน เพราะจะต้องทิ้งงานการปฏิบัติที่ทำมาตลอด ทำงานเสร็จสิ้นด้วยมือของตนเอง มีหัวหน้าเป็นผู้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่พอขี้นเป็นหัวหน้างานต้องกระจายงานให้ผู้อื่นทำให้สำเร็จด้วยมือของผู้อื่น ต้องคอยตราจผลงาน ติ หรือเตือน ให้คุณหรือชมเชย หรือต้องลงโทษ หรือต้องสอน ประสานติดตาม กับหน่วยงานต่างๆ จัดตารางการทำงานให้กับพนักงานอื่นๆ จัดการกับพนักงานที่เบี้ยวงาน สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดสำหรับการก้าวขึ้นเป็นหัวหน้างาน ซึ่งเป็นงานที่คนส่วนมากหลีกเลี่ยงไม่ต้องทำได้ ก็จะหลีกเลี่ยงเลย เพราะมันไม่สนุกสักเท่าไร
ความยุ่งยากที่กล่าวมา บางครั้งถึงกับทำให้พนักงานที่มีผลการทำงานและการปฎิบัติตนดี ไม่ยอมรับตำแหน่งหัวหน้างานยอมทำอยู่กับงานเทคนิคเดิมๆ เงินดือนขึ้นน้อยหน่อยหรือแทบเท่าเดิมก็ยังยอม เพราะไม่อยากไปรับผิดชอบชีวิตคนอื่น ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายโอกาสสำหรับพนักงานคนนั้น สำหรับองค์กร และสำหรับประเทศในภาพรวมเพราะเราจะขาดผู้ที่ทำหน้าที่ในระดับการจัดการ เราถึงต้องจ้างชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกมาทำหน้าที่ผู้จัดการ คนไทยเราก็ก้มหน้าทำงานเทคนิคไป ซึ่งถ้าพนักงานได้เรียนรู้ ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้การก้าวขึ้นสู่ระดับผู้จัดการก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะลักษณะการทำงานบริหารจัดการก็จะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ขยายสเกลใหญ่ขึ้นเท่านนั้น
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์กรไม่มีการวางแผนกสร้างพนักงานให้เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวขึ้นสู่ระดับหัวหน้างาน (Supervisor) ทำงานปฎิบัติการอยู่ดีๆ กำลังสบายๆ จะให้ขึ้นไปทำหน้าที่หัวหน้างาน ก็ต้องเกิดอาการกลัวเป็นธรรมดา
การจะเป็นหัวหน้างานจริงอยู่ว่าต้องท้าทายต่อวิกฤตต่างๆ ที่ผิดไปจากงานปฏิบัติการปกติ แต่ก็สามารถเรียนรู้และเตรียมตัวกันได้
กรุณาคลิ๊กดูรายละเอียดการอบรม หลักการเป็นหัวหน้างาน (Principle of Supervisor)