Written by Nattapol Klanwari
จากการสังเกตเห็นว่าท่านผู้อ่านให้ความในใจบทความที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษเป็นส่วนมาก สะท้อนให้เห็นถึงว่าหลายท่านสนใจการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ ผมจึงเร่งเขียนบทความเกี่ยวกับวิธีการที่จะใช้ภาษาอังกฤษให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากบทความที่ที่ผมเขียนเกี่ยวกับภาษาอังกฤษสองบทความคือ ภาษาอังกฤษกับพนักงานบริการ และ รายได้ขั้นต่ำและการใช้ภาษาอังกฤษของไทยกับประเทศในอาเซี่ยน สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่ได้อ่านสามารถคลิ๊กลิ๊งค์ไปอ่านได้เพื่อทำความเข้าใจก่อนมาถึงบทความนี้ได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแน่ๆว่า ถ้าใครมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้และถ้าใช้ได้เป็นอย่างดีด้วย ย่อมได้ประโยชน์มากกว่าผู้ไม่สามารถใช้ได้ รวมถึงรายได้และโอกาสต่างๆ ในเรื่องงานและสังคมอย่างมากมาย รวมถึงประโยชน์ในภาพรวมของระเทศด้วย จนหลายๆ ท่านนึกใจว่าแหม รู้อย่างนี้....... (ไม่มีอะไรสายเกินไปครับ รุ่นเราอาจช้า ช่วยกันสร้างรุ่นใหม่ต่อไป)
Jack Ma ก็ยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือเริ่มต้น ตามด้วยอินเตอร์เน็ต ในการสร้าง Alibaba
เราคงไม่ต้องไปพูดกล่าวโทษอดีตซึ่งไม่ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย เช่น เป็นเพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งมาก่อน เลยทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษกันไม่ได้ แต่เราจะดูกันในจุดที่สามารถปรับปรุงแก้ไขกันได้เพื่ออนาคตกันดีกว่า
อันที่จริงแล้วเราใช้เวลาในการเรียนภาษาอังกฤษกันมาแต่ละคนไม่ใช่น้อยๆ อย่างน้อยก็ 12 ปีตามเกณฑ์บังคับตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 จนถึงมัธยม 6 บางท่านที่เรียนอนุบาลซึ่งก็มักมีการเริ่มสอนภาษาอังกฤษกันแล้ว เอาเป็นว่าอย่างต่ำๆ ก็ 10 ปี แต่ก็ยังใช้งานไม่ค่อยได้ จนบางครอบครัวที่พอมีเงินส่งเสียลูกหลานก็ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่ต่างประเทศเลย ไม่ว่าอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรืออินเดีย ซึ่งก็ต้องใช้เงินและเวลา แทนที่จะไปแบบที่ใช้ภาษาอังกฤษได้แล้ว จึงไปเรียนเพื่อเพิ่มเติมวิชาการอย่างอื่น แต่กลับได้แค่พูดภาษาอังกฤษได้ เด็กบางคนไปรัฐที่มีคนไทยอยู่กันเยอะพลอยทำให้พูดอังกฤษได้ไม่ค่อยดีอีก
ในการรับสมัครเข้าทำงานเวลาสัมภาษณ์เพื่อวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับงานบริการ เช่น งานโรงแรม ภัตตาคาร สวนสนุก ห้างร้าน หรือช่างเทคนิคทัวไป หน่วยงานก็จะวัดเพียงว่า พอสื่่อสารหรือพอที่จะพัฒนาต่อไปหรือไม่ คือดูที่ศักยภาพ (Potential) ที่จะพัฒนาต่อได้ คงไม่ต้องถึงถึงกับสมบูรณ์แบบ ที่ผมกล่าวมานี่สำหรับงานที่ใช้ภาษาอังกฤษพื้นๆ นะครับ ไม่ใช่งานที่ต้องใช้กับความเสียงต่อชีวิตและความเสียหายใหญ่ๆ เช่น นักบิน วิทยุการบิน แพทย์ วิศวกร นักการทูต นักแปล ล่าม ซึ่งต้องมีระดับการใช้ภาษาอังกฤษที่ต้องดีมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
งานที่ต้องการพนักงานที่ใช้ภาษาอังกฤษพื้นฐานที่ผมกล่าวมา ถ้าพนักงานได้รับการเตรียมในการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมาอย่างให้ใช้ได้ก็น่าจะพอเพียง เพราะใช้เวลาตั้งประมาณ 10 ปีในการเรียนมา แต่ในความเป็นจริงหน่วยงานที่รับพนักงานไปต้องดำเนินการอบรมเพิ่มเติมอีก ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และการแข่งขันในธุรกิจและภาพรวมของประเทศ
ผมขอระบุสิ่งที่ระบบการเรียนการสอนดำเนินการที่ผ่านมา แม้แต่ในปัจจุบันก็อาจยังเป็นอยู่ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาต่อไปเลยนะครับ ผมขอยกกรณีศึกษาสักแห่ง
1. สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งมีนักศึกษา 2,000 คน มีครูภาควิชาภาษาอังกฤษ 6 คน อัตราส่วนนักศึกษา : ครูภาควิชาภาษาอังกฤษ = 333 : 1 คุณครูภาควิชาอื่นไม่ได้มีส่วนช่วยสอนภาษาอังกฤษเลย สร้างสภาพแวดล้อมให้ได้ใช้หรือฝึกภาษาอังกฤษได้ยากครับ รอหวังพึ่งแค่คุณครูภาควิชาภาษาอังกฤษเพียงแค่ 6 ท่านคงไม่ไหวแน่ๆ
2. ชั่วโมงการเรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละประมาณ 4 ชั่วโมง สัปดาห์นึ่งมีคาบเรียนประมาณ 30 ชั่วโมง สัดส่วนประมาณ 13% ของเวลาเรียนทั้งหมด ออกจากนอกห้องเรียนก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาเลย
3. ในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 35 คน ใน 1 ชั่วโมงเรียนได้ไม่ถึง 40 นาที นักเรียนต้องเป็นผู้ฟังเป็นส่วนใหญ่ แค่ครูอธิบายหลักการก็หมดไปครึ่งชั่วโมงแล้ว
4. เมื่อจำนวนนักเรียนมาก บทเรียนจึงเป็นการพูดของครู หรือไม่ก็นักเรียนก้มหน้าอยู่กับกระดาษ ถ้าจะให้นักเรียนได้พูด 35 คนๆ ละ 1 ประโยค ก็พูดกันไม่ครบทุกคนแล้ว
5. การเรียนเน้นการสอบวัดที่ความรู้ในกระดาษ เน้นหลักไวยากรณ์
- go went gone
- have/has been + ing
- the sun, an ant
- I - my, You - your, He - his, She - her
ฯลฯ
ถ้าฝรั่งหรือชาวต่างชาติที่เน้นพูดภาษาไทยมานั่งเรียนเรื่อง พยัญชนะไทย สระ วรรณยุกต์ อักษรสูง กลาง ต่ำ คำเป็นคำตาย การใช้ "ไ" "ใ" คำพ้องรูป พ้องเสียง คำสมาส คำสนธิ คำบุพบท สัญธาน ประโยค วลี ฯลฯ เมื่อไรเขาถึงจะพูดได้ ไม่ใช่ว่าการเรียนไวยากรณ์ไม่ดีหรือไม่สำคัญ แต่ต้องดูที่ความจำเป็นและเป้าหมายที่จะใช้งานก่อน
6. บางแห่งมีการจัด English Speaking Day คือวันที่ให้ทุกคนพูดกันเป็นภาษาอังกฤษ แต่แล้วก็ต้องแผ่วและเลิกไปในที่สุด กลายเป็นวันที่หลายคนไม่อยากพบเจอะเจอกับใคร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือครับ ลองดูความเป็นจริงกันครับในสถาบันหนึ่งมีคนที่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเรียกง่ายๆ ว่าการพูดก็แล้วกันนะครับ มีทั้งคนที่พูดเก่งใช้ได้เลย คนที่พอพูดได้ คนที่พูดไมค่อยได้ และคนที่พูดไม่ได้เลย (คือไม่อยากพูดด้วย) คนที่เก่งก็จะเบื่อที่จะต้องพูดกับคนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง คนที่พูดไม่เก่งก็จะอาย และข้อสำคัญพูดกันคนละเรื่องบางคนเริ่มพูดเรื่องดินฟ้าอากาศ บางคนพูดเรื่องอาหารการกิน บางคนเรื่องการเรียน ยิ่งหนักเข้าไปอีก
7. สถาบันมักชูโรงคนที่เก่ง อาจมี 5-10 คน แล้วทุ่มส่งเข้าประกวดรายการต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพูดแบบสุนทรพจน์ ไม่ใช่การสนทนาในชีวิตจริง ใช้เวลาให้กับกลุ่มนี้มากเพื่อจะได้รางวัลเป็นหน้าตาของสถาบัน ทั้งที่จริงแล้วเด็กกลุ่มนี้อาจมีไม่ถึง 1% ของนักเรียนทั้งหมด แต่มีจำนวนนักเรียนที่พูดไม่ได้แบบไม่ผ่านเกณฑ์ที่ควรเป็น 99% นักเรียนบางคนถึงกับสอบตกแล้วตกอีกทั้งที่เป็นวิชาทักษะที่เน้นใช้งานจริงที่ไม่ต้องเน้นความรู้ทฤษฎี มีบางแหน่งถึงกับจะตัดชั่วโมงการเรียนภาษาอังกฤษออกไปเลย กลายเป็นการตัดปัญหาไม่ใช่การแก้ป้ญหา
8. เรามักจะรอว่าเรียนให้พูดได้สมบูรณ์แบบก่อนแล้วค่อยออกไปพูด กลัวว่าจะพูดผิดๆ สำเนียงไม่ดี ถ้ารอแบบนี้ก็ไม่ได้เริ่มพูดกันสักที และอีกอย่างหนึ่งคือการสอนของเราพอใครพูดผิดครูก็รีบเบรคให้แก้ไขแล้ว ก็เลยยิ่งทำให้ไม่กล้าไปกันใหญ่ คนของแต่ละประเทศที่ไม่ใช่ฝรั่งหรือใช้ชีวิตอยู่ในเมืองฝรั่งก็พูดแบบมีสำเนียงของตัวเอง ฝรั่งเศสก็พูดภาษาอังกฤษมีฝรั่งเศสปน, สิงคโปร์ก็มักมีคำว่า ล่า ต่อท้าย เช่น No La, อินเดียก็พูดลิ้นรัวๆ, ฟิลิปปินส์ก็พูดแบบมี ร เรือ ชัดเจนจนรัว ฯลฯ แต่ท้ายสุดเราก็เน้นที่เป้าหมายของการสื่อสาร ไม่ได้ไปตำหนิอะไรเขา ฝรั่งที่มาอยู่ประเทศไทยพูดไทยไม่ชัดไม่เห็นเราจะไปว่าอะไรเขากลับชื่นชมว่าเขาพูดภาไทยได้ พูด ข้าว เป็น เข่า แทนที่จะพูดว่า หิวข้าว กลายเป็นข้าวหิว เราก็เข้าใจ ทำไมเราต้องตำหนิคนไทยด้วยกันเอง สนับสนุนกันไม่ดีกว่าหรือครับ ฝึกพูดไปก่อนแล้วค่อยๆ ปรับให้ดีขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านก็คงคิดว่าก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วไม่เห็นมีอะไรที่จะเป็นการปรับปรุงหรือพัฒนาเลย ต่อจากนี้ผมจะได้เขียนถึงสิ่งที่ผมได้ลงมือทำแล้วแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อโครงการการ เลยขอตั้งชื่อซะเลยนะครับว่า Easy English - EE Project โดยผมได้คิดวิธีการแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น นำเสนอไปหลายหน่วยงานเพื่อทดลองใช้ระบบ แต่ไม่มีใครสนใจเลย จนกระทั้งมีคุณครูตู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่สนใจและได้นำเสนอท่านผู้อำนวนการ ท่าน ดร.ประทีป บินชัย ซึ่งท่านก็ดีใจหาย ยินดีให้ผมเข้าไปแนะนำและทดลองใช้โปรแกรม EE Project ที่ว่านี้ ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าผมมาก่อน การที่จะให้ใครที่ไหนที่ไม่รู้จักเข้ามาทดลองทำอะไรในสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาเป็นพันคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อท่านให้เกียรติผมผมก็ต้องทำให้ดีที่สุด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึงขณะนี้ก็ครบ 1 ปีแล้ว โดยผมจะไปติดตามผลประมาณ 3 เดือนครั้ง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคุณครูและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่ในภาควิชาภาษาต่างประเทศและไม่ได้จบวิชาเอกภาษาอังกฤษแต่ท่ามีใจและให้ความร่วมมือครับ
เป้าหมายตั้งไว้ว่าภายใน 6 เดือน นักศึกษาทุกคนจะได้ไม่เดินหนีการพูดภาษาอังกฤษกับคนอื่น
ก่อนอื่นมาดูหลักการและเหตุผลก่อนครับ (ใจเย็นๆ อดทนอ่านสักนิดนะครับ)
1. ตั้งเรื่องที่จะฝึกพูด 1 เรื่องต่อ 1 สัปดาห์
2. คุณครูทุกท่านต้องมีส่วนร่วมในการสอนและพูดคุยกับนักเรียน
3. เน้นการพูดคุยระหว่างคนกับคน ไม่ใช่คนกับระบบดิจิตอล หรือคอมพิวเตอร์
4. พูดอย่างน้อยเท่าที่ระบุในแต่ละเรื่องของแต่ละสัปดาห์ มากกว่านั้นไม่เป็นไร แต่สิ้นสุดสัปดาห์ต้องพูดได้ตามที่ตั้งเป้าไว้อย่างต่ำ
5. ลักษณะที่เน้นย้ำ น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
- ปฏิบัติ ไปหา ทฤษฎี
- ทำเล็ก ไปหา ใหญ่
- ทำน้อย ไปหา มาก
- เรื่องใกล้ตัว ไปหา เรื่องไกลตัว
- เรื่องง่าย ไปหา เรื่องยาก
- เรื่องพื้นฐาน ไปหา เรื่องเทคนิค
- รูปธรรม ไปหา นามธรรม
- สิ่งที่จับต้องได้ ไปหา สิ่งที่ต้องคิดวิเคราะห์
6. การแหวกข้อจำกัด ไม่ยึดติด
- เน้นเนื้อหาที่จะพูด คุณครูแต่ละท่านเป็นตัวของตัวเอง สไตล์แตกต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
- นักเรียนต้องได้พูดมากว่าคุณครู
- คุณครูเรียนรู้และฝึกไปพร้อมกับนักเรียนได้
- ไม่เน้นที่ความเป็นฮีโร่ ของครูคนใดคนหนึ่ง แต่เปลี่ยนมาเป็นทำทั้งระบบไปด้วยกัน ครูทุกท่านทำได้
- ภาษาพูดสนทนาไม่มีระดับชั้นว่า ต้องเป็นการพูดระดับ ป 1, ป 4, ป 6, ม 6, ปวช, หรือปริญญาตรี โท เอก
- โครงการนี้เน้นให้ผู้เรียนรุกถามคำถามกัน แทนการรอแต่ถูกถามแล้วค่อยตอบ
ตัวอย่างยทเรียน (ขอยกตัวอย่าง 2 บทเรียนที่ใช้สำหรับ 2 สัปดาห์เพื่อประกอบการอธิบาย) ผมจัดทำไว้แล้ว 2 ชุดๆ ละ 34 บทเรียน ใช้เทอมละ 17 บทเรียน เทอมแรกยังไม่มี Past Tense
Week | Major | Minor | Sentences |
1 | I | I am Somsri. | |
You | You are Somsak. | ||
He | He is Samak. | ||
She | She is Pam. | ||
+ verb to be |
|||
2 | my | My name is.... | |
your | Your name is.... | ||
his | His name is.... | ||
her | Her name is.... |
ทั้งหมดจะมีทั้ง ฟัง พูด อ่านและเขียน แรกๆ เน้นการพูดเป็นหลัก
วิธีการดำเนินการต่อจากมีบทเรียนแล้ว
1. สัปดาห์ที่ 1 ต้นสัปดาห์ควรเป็นวันจันทร์ คุณครูนำนักเรียนแน่งกลุ่มพูดแนะนำตัวเอง (I am...) และคู่สนทนา (You are...) เรียกเขาผู้ชายว่า He is..., เรียกเขาผู้หญิงว่า She is ... ทวนหลายๆ รอบโดยที่คุณครูไม่ต้องอธิบายว่า You ต้องใช้กับ are หรือ I ต้องต่อด้วย am ให้นักเรียนพูดไปเลย แล้วนักเรียนจะจำเอาเอง แต่คุณครูต้องคอยตรวจสอบว่าชี้แล้วพูดถูกถ้าชี้ที่บุคคลที่สามที่เป็นผู้หญิงก็ต้องเรียก She
ถ้าจำนวนนักเรียน 2,000 คน จำนวนครู 70 คน เฉลี่่ยแบ่งกลุ่ม ก็มีนักเรียนกลุ่มละประมาณ 28 คน จัดเวลาบ่ายวันจันทร์แค่ 30 นาที ดำเนินการตามโปรแกรม ง่ายๆ วันต่อต่อไปคือการฝึกใช้ตามที่ได้รับการฝึกในห้องกับคุณครูแล้ว
2. เมื่อเรียนในวันจันทร์แล้ววันอังคาร - ศุกร์ นักเรียนต้องไปพูดแบบนี้กับเพื่อนอย่างน้อย 8 คน พูดกับคุณครูท่านใดก็ได้อีก 8 ท่าน แล้วให้ผู้ที่สนทนาด้วยเซ็นตในสมุดเป็นหลักฐาน แบบกึ่งบังคับให้ต้องไปพูด
แทนที่จะเป็น English Day แบบเนื้อเรื่องกว้างๆ กระจัดกระจาย ต่างคนต่างอายไม่กล้า จะกลายเป็น Everyday English ที่เฉพาะเรื่อง แคบๆ น้อยๆ และ พูดเรื่องเดียวกัน ใกล้เคียงกัน
หลักไวยากรณ์ที่ได้จากการพูดโดยธรรมชาติ ไม่ต้องสอนเป็นภาคทฤษฎีหลักการในห้องเรียน รู้ เข้าใจ และพูดได้โดยการปฏิบัติ (ข้อสำคัญไม่น่าเบื่อที่ต้องนั่งฟัง หรือจำเพื่อสอบเพียงอย่างเดียวด้วย)
1. Pronouns (สรรพนามที่ใช้เรียกบุคคล)
I ใช้แทนการเรียกตนเอง
You ใช้เรียกบุคคลที่เป็นคู่สนทนาด้วย
He ใช้เรียกบุคคนที่สามที่เป็นผู้ชาย
She ใช้เรียกบุคคลที่สามที่เป็นผู้หญิง
2. Verb to be ที่ใช้กับ Pronouns
I am
You are
He is
She is
3. สัปาดาห์ที่ 2 ก็เริ่มบทเรียนใหม่ แทนที่จะพูดว่า I am Somsri ก็จะเป็ฯ My name is Somsri. นักเรียนก็จะพูดแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องเรียนเป็นทฤษฎีว่า I ต้องเปลี่ยนเป็น My, You ต้องเปลี่ยนเป็น Your, He เป็น His, She เป็น Her
สัปดาห์ต่อไปก็จะเพิ่มไปทีละเล็กละน้อยและคำศัพท์ที่ใกล้ตัวสัปดาห์ละ 10 คำ เพื่อใช้ในประโยคของแต่ละบทเรียน
นี่เป็นตัวอย่างที่ดำเนินมาแล้ว 1 ปีโดยจะมีการประเมินผลโครงการอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีข้อแก้ไขปรับปรุงบ้างอย่างแน่นอน แต่โดรงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำแล้วทิ้งๆ ขว้างๆ
สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานใดต้องการนำวิธีการและบทเรียนไปใช้ (อย่างจริงจัง) เรายินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ สามารถติดตามผลการดำเนินงานที่วิทยาลัยอาชีวะศึกษาแพร่ หรือ ติดต่อเรา ในเว็บ Trainingreform.com นี้
ถ้าสถาบันการศึกษาสร้างนักเรียนนักศึกษาให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้แล้ว ภาคธุรกิจก็จะได้นำเวลาและงบประมาณไปพัฒนาอย่างอื่นเพื่อสร้างขีดความสามารถของประเทศในขั้นต่อไปได้
ตัวอย่างหนังสือ่านนอกเวลาที่ใช้ให้นักเรียนใช้อ่านในเทอมที่ 2 หลังจากเรียน Past Tense แล้ว
ผมไม่สามารถพูดได้ว่านี่เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด แต่เป็นวิธีหนึ่งที่ผมกลั่นกรองจากการเรียน การทำงาน และใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพราะเห็นว่าในปัจจุบันอย่าว่าแต่เด็กๆ ที่อยู่ไกลตัวเมืองใหญ่ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แม้แต่ผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีหรือโทแล้วเป็นจำนวนมาก ยังต้องมาขวนขวายหาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้งานให้ได้กันเยอะแยะ เสียทั้งค่าใช้จ่าย เวลา และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือโอกาสแทนที่จะใช้เวลาเพิ่มศักยภาพด้านอื่นๆ กลับต้องมาเสียเวลาและค่าใช้จ่ายดังกล่าวอุดรอยรั่วที่ควรจะได้ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาที่ร่ำเรียนมา เราต้องร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างเป็นรูปธรรมแล้วครับ
สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกระดับที่สนใจนำโครงการ EE Project นี้ ไปใช้ในการเรียนการสอน กรุณาติดต่อมาได้ ผมยินดีเดินทางไปดำเนินการให้โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงมีความตั้งใจและทำจริง โดยท่านผู้บริหารระดับสูงต้องให้การสนับสนุน ร่วมมือ และติดตามผลการดำเนินงานเท่านั้น ถ้าทำอย่างจริงจังภายใน 12 เดือนจะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
Try and leave this world a little better than you found it, and when your turn comes to die, you can die happy in feeling that at any rate, you have not wasted your time but have done your best.
Robert Baden-Powell