สิ่งที่เป็นสเน่ห์ของคนไทยที่ส่งผลถึงการได้รับการกล่าวขานว่า “Land of Smiles” หรือ ดินแดนแห่งรอยยิ้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มากทีเดียว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแม้แต่ในยามที่มีปัญหาหรือยามวิกฤติคนไทยก็ยังยิ้มได้
สำหรับประเทศตะวันตกแล้วพลเมืองเขาก็ยิ้มกันแต่ไม่บ่อยหรือแทบตลอดเวลาอย่างคนไทยเรา ซึ่งในขณะปกติการยิ้มก็เป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับชาวตะวันตกแล้วเขาจะมีสีหน้าไปตามเหตุการณ์ โดยเฉพาะกับการการสนทนากับคนอื่น เช่น ดีใจก็ยิ้ม ตอนยินดีด้วยก็ยิ้ม ตอนตกใจก็สีหน้าตกใจตามไปด้วย อาจต่างกับคนไทยที่จะยิ้มแทบทุกสถานการณ์
ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ เช่น ขณะที่นักท่องเที่ยวหรือลูกค้าชาวต่างชาติมาแจ้งว่าของหายหรือประสบอุบัติเหตุ สำหรับคนไทยก็อาจพูดแบบมีรอยยิ้มผสมโดยมีหมายถึงเอาใจช่วย หรือปลอบใจ เดี๋ยวเหตุการก็ดีขึ้น หรือ ไม่เป็นไรหรอก แต่สำหรับชาวตะวันตกเป็นเรื่องที่เหมือนยิ้มเยาะในเรื่องที่เขากำลังซีเรียส อยู่ อาจจะแสดงอาการโกรธเป็นฟืนเป็นไฟชึ้นมาได้
การยิ้มก็ต้องระวังสำหรับกรณีต่างๆ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะการยิ้มสามารถตีความหมายได้หลายอย่างด้วยกันไม่ใช่เฉพาะในทางบวกอย่างเดียว เช่น การยิ้มอาจหมายถึง
- ยิ้มเยาะ หรือตลกขบขันในเรื่องของเขา
- ความไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องของเขา
- ยิ้มแก้เก้อ ที่คนที่ยิ้มอาจไม่รู้จริง
ผมเคยถามหัวหน้าแผนกที่เป็นชาวตะวันตกท่านหนึ่งในฐานะที่ทำงานมีพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นคนไทย ผมก็อยากทราบมุมมองที่เขามองพนักงานคนไทยว่าน่าจะปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นอีก เขาก็ตอบแบบเกรงใจเพราะอยู่เมืองไทยมานานจนเข้าใจเรื่องการที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนไทยในประเทศไทย ผมก็ต้องบอกว่านี่เป็นเรื่องที่เราจะได้มองตัวเราออกและจะได้ปรับปรุง เขาก็อ้อมแอ้มออกมาว่าถ้าคนไทยยิ้มน้อยลงสักนิด (ไม่ได้หมายความว่าเลิก ไม่ยิ้มเลย) แล้วเพิ่มความเอาจริงเอาจังในการทำงาน เพิ่มมากขึ้นสักนิดก็น่าจะดี
เรื่องนี้มิได้หมายถึงว่าจะเลิกการยิ้มอย่างที่เราเป็นแต่ที่สำคัญ คือต้องดูกาละเทศะในแต่ละกรณี และ เพิ่มความใส่ใจตั้งใจในการทำงานให้มากขึ้นอีกนั่นเอง