การให้บริการลูกค้าโดยเฉพาะกับการบริการที่ต้องอยู่ต่อหน้าลูกค้าหรือบริเวณที่เป็นที่สาธารณะ เช่น เคาน์เตอร์ที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ตลอด พนักงานจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมต่างๆ ทั้งที่อาจไม่ตั้งใจ
การบริการดังกล่าวจะต้องใช้การสื่อสารเพื่อการให้บริการ การสื่อสารที่ใช้เป็นหลักคือการพูด และภาษากาย บทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องภาษากายเพียงอย่างเดียว และจะมุ่งไปที่จุดที่สำคัญก่อน
ภาษากายที่ลูกค้าสามารถแปลความหมายว่าพนักงานกำลังหมายถึงอะไร อย่างไร คือ การแสดงออกของดวงตา เมื่อดวงตาขยับทำงานมองไปจะเรียกว่าสายตา
ลูกค้าจะทราบว่ามีพนักงานให้การต้อนรับ เพียงแต่พนักงานมองและสบตาเพียงแค่นี้ก็เป็นจัดเริ่มต้นของการให้การต้อนรับแล้ว ต่อไปจะเป็นการพูดกล่าวอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อันดับแรกสุดของการแสดงออกทางภาษากายคือการระมัดระวังการใช้สายตา การใช้สายตาแสดงออกถึงความหมายต่างๆ โดยที่ลูกค้าสามารถแปลความหมายได้โดยที่พนักงานไม่ต้องพูดอะไรออกมาเลย เช่น
การไม่มอง คือการไม่ให้เกียรติ เช่น ลูกค้าเดินเข้ามาแล้วไม่มีใครมอง อย่าแต่ทักเลยมองยังไม่มอง แค่นี้ก็เป็นการไม่ให้เกียรติแล้ว หรือพนักงานก้มหน้าพูดโดยไม่สบตาลูกค้า
การมองด้วยหางตา เป็นการแสดงความไม่พอใจ ดูถูก จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ลูกค้าได้รับความรู้สึกนั้นไปแล้ว
การมองขึ้นลง คือการดูถูก ไม่เชื่อถือ หรือแบบที่เรียกว่ามองหัวจรดเท้า
ในขณะเดียวกันการก้มหน้าพูดโดยไม่สบตา ดูเหมือนไม่มั่นใจในการพูดหรือให้ข้อมูล
การใช้สายตาแบบต่างๆ ถ้าใครที่เคยชินกับการใช้สายตาอย่างไรก็มักจะติดเป็นนิสัย ถึงแม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจให้มีความเช่นนั้นสักหน่อย แต่การบริการลูกค้าไม่สามารถพูดอ้างเช่นนั้นได้ ดังนั้นหัวหน้าต้องคอยสังเกตและให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน จะให้เพื่อนร่วมงานเตือนกันเองก็ดูจะยากเพราะอุปนิสัยส่วนตัวคนในระดับเดียวกันเตือนกันดูจะไม่เหมาะสม
กรุณาคลิ๊กดูรายละเอียดการอบรม การสื่อสารเพื่อการจัดการการบริการ (Communication for Service Business)