Image by Joel santana Joelfotos from Pixabay
Written by : Nattapol Klanwari
การทำธุรกิจหรือการดำเนินการต่างๆ เป้าหมายสุดคือการมีกำไร (Profit) ยิ่งมีกำไรมากเท่าไรยิ่งดี แน่นอนว่ายิ่งเพิ่มรายได้ (Revenue) ยิ่งมากยิ่งดี อีกส่วนคือทุน (Cost) ที่เกิดจากการทำธุรกิจหรือกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องพยายามให้ลดน้อยลงเป็นดี
ต้นทุนหรือทุน (Cost) เป็นสิ่งที่ธุรกิจหรือการดำเนินการต่างๆ เป็นห่วงและกังวลเป็นอย่างมาก เพราะทุนส่งผลกระทบต่อการเหลือกำไรเป็นอย่างมาก กำไรอย่าว่าแต่การทำธุรกิจเลย ไม่ว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อะไรก็แล้วแต่ ที่ว่าไม่ใช่ธุรกิจก็ยังหวังให้มีกำไร ถึงแม้องค์กรหรือหน่วยงานที่เรียกตัวเองว่า "หน่วยงานที่ไม่หวังกำไร" ก็ยังต้องมีกำไรอะไรต่อมิอะไรแฝงอยู่ดี แต่อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน (Money) แต่อยู่ในรูปแบบอื่น เช่น การมีผู้รับข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปเป็นจำนวนเท่าไร สามารถลดปัญหาอะไรได้บ้างเป็นต้น
หรือแม้กระทั่งการทำบุญ เช่น ทำบุญ 20 บาท อธิฐานขอให้ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 หรือเดินทางแล้วแคล้วคลาดปอลดภัย หรือไม่เจ็บไม่ป่วย ลงทุน 20 บาทแต่หวังกำไรเป็นหลายร้อยหลายพันเท่า จริงไหมครับ
การเริ่มต้นทำธุรกิจ ก็มักจะต้องมีการทำการศึกษาความน่าจะไปได้ของการลงทุนทำธุรกิจนั้นว่าจะไปรอดไหม (Feasibility) มีกำไรสักปีละเท่าไร สามารถถอนทุนได้ภายในระยะเวลากีปี ถ้าเปรียบเทียบกับการนำเงินนั้นไปลงทุนอย่างอื่นอันไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน
ต้นทุนโดยทั่วไปก็จะเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือต้นทุนที่ต้องจ่ายแน่ๆ ไม่ว่าจะมีรายได้เข้ามาหรือไม่ เช่น ค่าเช่าตึก อาคาร มีรายได้หรือไม่มีก็ต้องจ่ายแน่ๆ และต้นทุนแปรผัน (Available Cost) เป็นต้นทุนที่จะต้องจ่ายก็ต่อเมื่อเกิดการผลิต ถ้าด้านห้องอาหารก็คือต้นทุนอาหาร เช่น ถ้าขายไข่เจียว 1 ฟอง ก็มีต้นทุนของไข่ไก่หรือไข่เปิด 1 ฟอง ถ้าไม่มีลูกค้าสั่งไข่เจียว ไข่สดนั้นก็ยังอยู่ไม่ถูกนำไปทอด เป็นต้น
ทั้งนี้ยังมีต้นทุนอื่นอีก เช่น ค่าาจ้างแรงงาน (Labor Cost) ต้นทุนประเภทค่าโสหุ้ยหรือค่าใช้จ่ายจิปาถะ หรือ Overhead Cost เช่น ค่าสาธารณุปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น
ต้นทุนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นต้นทุนที่อยู่ในแผนคำนวณอยู่แล้ว แต่สำหรับบทความนี้ผมจะเน้นถึงต้นทุนอีกประเภทหนึ่ง พอดีผมได้ฟังมาจากพี่วิทยากรท่านหนึ่งแต่จำไม่ได้แล้วว่าท่านใดชื่ออะไร ก็ขออนุญาตนำมาเขียนเพื่อเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านต่อไป ต้นทุนนี้ก็คือ "ความไม่รู้" ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจหรือการดำเนินการต่างๆ อย่างฉกาจเลย
ขอยกตัวอย่างต้นของ "ความไม่รู้" เช่น
- ลงทุนทำธุรกิจแล้ว เกิดโรคระบาดโควิด
- ซื้อรถยนต์มือสองมาแล้ว มารู้ทีหลังว่าเครื่องยนต์ชำรุดมาก ต้องเสียเงินซ่อมมาก
- รับสมัครผู้จัดการาแล้ว ทำงานไม่เป็นเลย
- ซื้อทองไว้แล้ว ราคาลงยาวเลย
- ซื้อหุ้นแล้ว หุ้นตก
- มีคนมาเสนอขายที่ถูกๆ แต่ไม่เอา แต่คนอื่นซื้อแล้วขายต่อได้กำไร
- หรือ ขาย (Sell) เหรียญคริปโต แล้วราคาขึ้นสวนทาง
- ฯลฯ
ตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นว่า "ความไม่รู้" มีทั้งส่วนที่รู้ได้ยาก เช่น การเกิดโรคระบาดโควิด ซึ่งป้องกันยากมาก กับความไม่รู้ที่สามารถหาข้อมูลได้ เช่น การรับคนมาเป็นผู้จัดการก็ต้องสืบประวัติ สัมภาษณ์ หาบุคคลอ้างอิงเพื่อการสอบถามการทำงาน
ดังนั้นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินใดๆ ก็ต้องหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจาก "ความไม่รู้"
ดังคำพูดที่ว่า รู้อะไรก็ไม่สู้ "รู้งี้"