Written by : Nattapol Klanwari
เรามักจะได้ยินสำนวน "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม" ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Do as the Romans do" ซึ่งหมายถึง ประพฤติตนตามที่คนส่วนใหญ่ประพฤติกัน แต่ในสังคมบางสังคมอาจปฏิบัติตามสำนวนนี้ไม่ได้
กิจกรรมหนึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับมารยาทสังคมคือ มารยาทในการการรับประทานอาหารแบบสากล โดยเฉพาะกับสังคมที่เป็นสังคมที่เป็นสากล (International Etiquette) เสมือนภาษาที่ใช้สื่อสารกันในสากลคือภาษาอังกฤษ ถ้าเราทานอาหารอยู่กับครอบครัวเราเองในบ้านก็ไม่เป็นไรเพราะนั่นเป็นสถานที่ส่วนตัว (Private)
มารยาทในการรับประทานอาหารแบบสากลมีทั้งที่เป็นแบบไม่เป็นทางการ (Informal) คือไม่ได้กำหนดรูปแบบที่ต้องปฏิบัติเป๊ะๆ เช่น เราไปทานอาหารแบบบุฟเฟ่ (Buffet) หรือที่ศูนย์อาหาร (Food Court) ที่ต่างคนต่างลุกเดินไปมากวักไกว่ บางครั้งก็ใช้มือหยิบอาหารขึ้นมาทานเช่น การทานพิซซ่า หรือไก่ทอด เป็นต้น
ตัวอย่างการรับประทานอาหารแบบไม่เป็นทางการ สบายๆ
อีกประเภทหนึ่งคือ การรับประทานอาหารที่เป็นแบบทางการ (Formal) มีการจัดโต๊ะ กำหนดการนั่งประจำที่แน่นอน จัดเครื่องมือในการรับประทานแบบหรูหรา กำหนดการแต่งกายต้องดี
ตัวอย่างรูปแบบการจัดโต๊ะอาหารสำหรับการรับประทานอาหารที่เป็นทางการ รูปแบบนี้แหละครับที่เราต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตั้งแต่การต้องได้รับเชิญ ตอบรับการเชิญ ดูรายละเอียดการแต่งกายให้ถูกต้องตามที่กำหนดในการ์ดเชิญ
ผมจะตัดตอนไปที่เรื่อง "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม...ใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์" นั่นก็คือสถานการณ์ที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ สำหรับรายละเอียดการใช้เครื่องมือขอให้คลิ๊กไปดูที่ https://trainingreform.com/index.php/training-blog/170-training-blog-75
ถ้าเป็นการใช้เครื่องมือในการรับประทานที่มีไว้สำหรับคนเดียวใช้ก็ไม่มีปัญหาอะไร อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่อยู่ข้างขวาก็เป็นของเรา เช่นแก้วของเราก็ต้องเป็นที่อยู่ข้างขวาอย่างแน่นอน ของที่อยู่ข้างซ้ายก็เป็นของเรา เช่นจานขนมปัง หยิบใช้ได้อย่างไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าเป็นตามรูปด้านล่างละครับ
ถ้าเราเป็นแขกที่นั่งอยู่ที่นำแหน่ง B หรือ C จะเห็นได้ว่ามีจานขนมปังอยู่ทั้งซ้ายและขวา มีแก้วน้ำอยู่ทั้งซ้ายและขวา ถ้ามีแขกคนใดคนหนึ่งหยิบแก้วด้านซ้ายมือใช้ เช่น B หยิบของ A ใช้ นั่นก็คือ A จะไม่มีแก้วเครื่องดื่มใช้เลย กรณีเรื่องแก้วน้ำจะเป็นกับคนไทยมากเพราะเรามักจะหยิบแก้วที่พนักงานจัดให้ด้านขวามือไปไว้ด้านซ้ายมือเพราะเราจะต้องเอื้อมมือขวาไปตักกับข้าวที่วางไว้กลางโต๊ะ แก้วด้านขวามือเกะกะก็เลยเลื่อนไปไว้ด้านซ้าย ทำให้เราเคยชินไปโดยไม่รู้ตัว หรือ C หยิบขนมปังด้านขวามือซึ่งเป็นของ D ตำแหน่ง D ก็จะไม่มีขนมปังทาน
ที่สำคัญในโต๊ะอาหารระดับนี้ การที่จะไปบอกความถูกต้องหรือผิดถูกกับผู้ร่วมโต๊ะถือว่าเป็นการเสียมารยาทมากทีเดียว เช่น D จะไปบอก C ว่า "ขอโทษนะครับ จานขนมปังนี้เป็นของผม ของคุณต้องอยู่ด้านซ้ายมือของคุณ" มีหวังได้มีเคืองกันไปจนวันตายแน่ ถ้านั่งเป็นแถวยาวเช่นนี้ ถ้าเกิดการใช้ผิดจะมีคนที่เดือดร้อนคือไม่มีสิ่งนั้นใช้
ทีนี้มาดูตัวอย่างต่อไปดังรูปด้านล่าง
การฝากความหวังกับการสังเกตว่าคนอื่นทำอย่างไรแล้วก็ทำตามหรือ Do as the Romans do เช่นถ้ามีคนใดคนหนึ่งหยิบขนมปังจากด้านขวามือ คนอื่นก็ทำตาม คือทุกคนใช้จานขนมปังด้านขวามือด้วยกันทั้งหมด หรือใช้แก้วน้ำด้านซ้ายมือด้วยกันทั้งหมด ก็ไม่มีอะไรเป็นที่เดือดร้อนเลยเพราะทุกคนมีอุปกรณ์ในการทานหรือดื่มครบทุกคน คือพูดง่ายๆ ว่าผิดกันทั้งโต๊ะ ดังนั้นอาศัยว่าทำตามๆ เขาไป ดูจะไม่เวิร์คสำหรับเรื่องนี้ ต้องระมัดระวังครับ
ที่หนักไปกว่านั้นคือ บางคนหันไปคุยกับคนด้านขวามือก็ดื่มน้ำข้างขวา พอหันไปคุยกับคนด้านซ้ายก็ดื่มด้านซ้ายมือ เรียกว่าใช้ทั้งซ้ายและขวา อันนี้อาการหนักมากที่สุดครับ