Written by : Nattapol Klanwari
อาชีพการปรุงอาหารหรือที่เรียกว่า กุ๊ก (Cook) หรือพ่อครัว แม่ครัว นับว่าเป็นงานอาชีพที่ต้องใช้ทักษะฝีมือ และประสบการณ์ ตามความหลากหลายของอาหารประเภทต่างๆ ซึ่งต้องใช้ทั้งความเป็นศาสตร์และศิลปประกอบกัน
การประกอบอาชีพกุ๊กเป็นอาชีพที่ต้องมีใจรักเป็นจุดเริ่มต้นมาก่อนเลย ทั้งงานหนัก ยืนหน้าเตาไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพราะต้องแข่งกับเวลา รีรอไม่ได้ เช่น เมื่อตั้งกระทะบนเตา นำวัตถุดิบใส่กระทะแล้ว ต้องดำเนินการปรุงไปตามกำหนดที่เป็น เพราะมิเช่นนั้นอาจเกิดการสุกไม่ได้ที่หรือสุกเกินไปจนอาหารไหม้ก็ได้ รสชาติต้องคงที่ สม่ำเสมอ ผิดเพี้ยนให้น้อยที่สุด
ความภาคภูมิใจของความเป็นกุ๊กไม่มีอะไรที่เหนือไปกว่า การที่ทำอาหารออกมาแล้วแขกที่รับประทานชื่นชมว่าอร่อย กลับมารับประทานอีก พร้อมทั้งแนะนำและบอกต่อๆ กันไปว่าถ้าทานอาหารจานนี้ต้องมาทานที่นี่ ปรุงโดยกุ๊กคนนี้เท่านั้น แค่นี้แหละครับ กุ๊กคนนั้นยิ้มหน้าบานเลย ไม่เอาเงินเดือนก็ได้ (ต้องเอาครับ ไม่งั้นจะเอาอะไรกิน)
อาหารแต่ละประเภทโดยปกติหลักๆ ก็จะประกอบด้วย วัตถุดิบหลัก ส่วนประกอบ และส่วนปรุงรส เช่น
- Pepper Steak
- แน่นอนว่าหลักก็คือ ชิ้นเนื้อเสต็ก
- ส่วนประกอบก็คือ พวกผัก มันต่างๆ ประกอบในจาน
- ส่วนปรุงรสก็คือ ซ๊อสพริกไทย
- ผัดกะเพราหมู
- หลัก คือ หมู
- ส่วนประกอบคือ กระเทียม พริก ใบกะเพราะ
- ส่วนปรุงรสคือ น้ำปลา น้ำตาลทราย ซีอิ๊วดำ (ปัจจุบันก็ต้องมีซ๊อสหอยนางรม)
การปรุงอาหารของกุ๊ก ถือว่าฝีมือของกุ๊กต้องเป็นที่น่าเชื่อถือได้แล้วว่า ผ่านการปรุงมาอย่างชำนาญแล้วจนแทบว่าตัวกุ๊กเองไม่ต้องชิมด้วยซ้ำไป ความเหมาะสมของส่วนปรุงรสถือว่าพอเหมาะตามสูตรที่กุ๊กได้รังสรรมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ทั้งนี้นอกเหนือจากส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมาแล้ว ในการรับประทานก็จะมีเครื่องปรุงให้แขกได้ใส่เพิ่มเติมตามความชอบของแต่ละคนด้วยตนเองที่โต๊ะอาหารบ้าง เช่น
- Pepper Steak จะมีเกลือ พริกไทย
- Ham Burger มีซ๊อสมะเขือเทศ
- ผัดกะเพรา มีพริกน้ำปลา
- ไข่ดาว มีซีอิ๊วขาว (ส่วนใหญ่ก็เรียกยี่ห้อไปเลยว่า แม็กกี้) และ/หรือซ๊อสพริก หรือซ๊อสมะเขือเทศ
- ราเม็ง มีซ๊อสโชยุและพริกป่นที่ไม่เผ็ดมาก หรือบางร้านก็จะให้เพียงพริกไทยและพริกป่น
ทีนี้ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านลองมาดูตัวอย่างที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้คือ ก๋วยเตี๋ยวที่เราทานกัน (ในประเทศไทย) ที่บางทีเราอาจปฏิบัติกันจนไม่ได้นึกอะไร ลองมาดูกันครับ เครื่องปรุงรสตามร้านก๋วยเตี๋ยวโดยทั่วไปจะมีเตรียมไว้ให้อย่างน้อย 4 อย่างคือ
- น้ำปลา
- น้ำตาลทราย
- พริกป่น
- น้ำส้มสายชูหรือพริกน้ำส้ม
นี่ยังไม่รวมถั่วลิสงคั่วบด พริกกะเหรียง และอาจมีอะไรอย่างอื่นอีกที่เยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ และผมเชื่อว่า เกินกว่า 50% ของผู้ที่ทานพอได้ก๋วยเตี๋ยวมาก็เติมเครื่องปรุงเลย ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่น บางคนก็เทน้ำปลาก่อนเลย บางคนก็เติมน้ำส้ม หรือน้ำตาลหรือพริกก่อน ทั้งที่ไม่ได้ชิมก่อนเลย แทบจะเรียกได้ว่ามาปรุงกันใหม่ด้วยตัวเองเลย จนทางร้านต้องมีป้ายเตือนว่า "กรุณาชิมก่อนเติม" ทั้งนี้ไม่ใช่เสียดายเครื่องปรุงแต่เกรงว่าถ้ารสจัดเกินไปจะมาโทษว่ากุ๊กปรุงรสจัดเกินไป ทั้งๆ ที่ลูกค้าเป็นผู้เติมลงไปเอง
นั่นเป็นพฤติกรรมที่ทำให้คนไทยเดินทางไปต่างประเทศก็มักจะต้องติดเครื่องปรุง เช่น น้ำปลาหรือพริก หรือน้ำพริกป่น ไปด้วย ถ้าสั่ง Spaghetti Milanese ที่กุ๊กอิตาเลี่ยนภาคภูมิใจนำเสนออย่างสุดฝีมือ กุ๊กอุตส่าห์ออกมาเสิร์ฟด้วยตนเอง (ถือว่าเป็นการให้เกียรติแขกเป็นอย่างมาก) พอจานอาหารวางลงบนโต๊ะ กุ๊กก็จะยืนรอให้แขกตักกินคำแรกแล้วหันมาชื่นชมในความอร่อย แต่เจอแขกฉีกถุงน้ำพริกป่นโรยลงไปเลย เหมือนอย่างที่เราใส่เครื่องปรุงตามอย่างที่เราชอบ แล้วก็คลุกกินหน้าตาเฉย
เท่านั้นแหละครับกุ๊ก ร้อง "Oh My God" และคงนอนไม่หลับไปทั้งคืน และขาดความเชื่อมั่นในฝีมือตนเองไปเป็นปีกันเลยทีเดียว เพราะการปรุงเหมือนปรุงกันใหม่ขนาดนี้เสมือนเป็นการฆ่ากันในอาชีพของความเป็นกุ๊กเลย