เป้าหมายของการประกอบกิจการต่างๆ ย่อมต้องการให้มีกำไร ถ้าทำแล้วไม่ได้กำไรจะทำไปทำไม ซึ่งความของคำว่ากำไรคือส่วนต่างระหว่างรายได้หรือสิ่งที่ได้รับ หักค่าใช้จ่าย
กำไร (Profit) = รายได้หรือสิ่งที่ได้รับ (Revenue) – ค่าใช้จ่าย (Cost)
กำไร ดูเหมือนจะเป็นการพูดถึงภาคธุรกิจเอกชนที่ทำการค้าขาย แต่แท้ที่จริงแล้ว กำไรจะอยู่กับทุกๆ กิจกรรม แม้แต่ภาครัฐ แต่กำไรที่ได้อาจไม่ใช่อยู่ในรูปของเงินตราเช่นภาคธุรกิจเอกชน อาจเป็นในแง่ของนามธรรม เช่น ความสงบสุขของประชาชน เป็นต้น
กำไรไม่เว้นแม้แต่การทำบุญ เช่น เวลาทำบุญบริจาคเงินบำรุงวัดวาอาราม หรือแม้แต่บริจาคให้ผู้ยากไร้ บริจาค 20 บาท แต่เวลาอธิษฐาน ขอว่าจากการทำบุญครั้งนี้ของให้ถูกรางวัลที่ 1 ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไปไหนไม่พบเจออุบัติภัย แคล้วคลาดจากอันตรายตลอดระยะเวลาการเดินทาง................... นับเป็นมูลค่าไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่าของเงินบริจาค (ต้นทุน) นั่นก็คือการหวังกำไรอยู่ดี
สำหรับบทความนี้ขอกล่าวถึงความเป็นบุคคล ที่เป็นบุคลากรหรือพนักงานที่ทำงานในองค์กรต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่ทำงานก็หวังจะได้รายได้มากๆ มีเงินเหลือเก็บมากๆ พนักงานบางคนมองเฉพาะที่รายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น ตำแหน่งงานเท่าเดิมทำงานอย่างเดิมเงินรายได้เขาให้เพิ่มขี้น 1,000 บาท ก็ตาโตรีบลาออกจากที่เดิมแล้วไปทำงานที่มีเงินเพิ่มขึ้นดังกล่าว แต่ไม่สำรวจดีให้ดีว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ตามมาอีก เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ที่อาจเพิ่มขึ้นทราบก็ต่อเมื่อไปทำงานที่นั่นแล้ว
การเหลือกำไรสำหรับภาคธุรกิจก็หนีไม่พ้นเรื่องการหารายได้เพิ่ม และลดต้นทุน แน่นอนว่าสำหรับธุรกิจมีความเสี่ยง เสี่ยงสูงก็มีสิทธิได้มาก (High Risk, High Return) แต่สำหรับพนักงานการจะมีรายได้เพิ่มมันก็เป็นจังหวะและโอกาสต่างๆ เช่น นายจ้างขึ้นเงินเดือนซึ่งก็ไม่บ่อยนักอาจต้องรอเป็นปี ดังนั้นจากสมการความหมายของกำไร มีทางเดียวที่ทำได้แน่ๆ ก่อนเลยคือการลดต้นทุน
ต้นทุนของการดำรงชีวิต มีต้นทุนที่จำเป็นและต้นทุนขยะ ต้นทุนที่จำเป็นเช่น ค่าอาหารที่เพื่อการดำรงชีวิต ค่าที่พัก ค่าเครี่องแต่งกายที่จำเป็น ฯลฯ สำหรับต้นทุนขยะหมายถึงต้นทุนที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ได้แต่ก็จ่าย เช่น สิ่งที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น สุรา บุหรี่ ฯลฯ
การใช้จ่ายกับสิ่งฟุ่มเฟือยสามารถเป็นไปได้ ทั้งนี้ต้องคิดเป็นค่าร้อยละของรายได้ เช่น บางคนซื้อรองเท้าราคา 5,000 บาท จะบอกว่าเขาฟุ่มเฟือยหรือไม่ต้องดูที่รายได้ของเขา ถ้าเขามีรายได้เดือนละ 1000,000 บาท คิดเป็น 5% หรือร้อยละ 5 ของรายได้ เขาไม่มีหนี้สินที่ต้องเป็นภาระ ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าอีกคนมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท รองเท้าคู่นี้จะเป็นรายจ่ายถึง 25%
ยกตัวอย่างนาย ก มีรายได้วันละ 400 บาท แต่ค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมการกินข้าวในแต่ละวัน
ค่าเบียร์ 60 บาท (นี่ให้อย่างน้อยแล้วซึ่่งจริงแล้วดื่มกันมากกว่านี้อีก)
กับแกล้ม 20 บาท
บุหรี่ 50 บาท
รวม 130 บาท
คิดเป็น 32.5% ของรายได้ 400 บาท หรือเป็นสัดส่วน 1/3 ของรายได้ นี่ยังไม่รวมค่ากินข้าว ถ้ามีครอบครัวก็ยังไม่รวมค่าอาหารของภรรยา ค่านม ค่าให้ลูกไปโรงเรียน ฯลฯ
นี่เป็นเรื่องจริงที่ยังเกิดขึ้นในสังคมการทำงานในปัจจุบัน
ถ้าพนักงานยังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ ก็ยากที่จะมีเงินเหลือเก็บหรือมีไว้พัฒนาตนเอง พัฒนางาน และครอบครัวได้ ตนเองไม่พัฒนางานก็ไม่พัฒนา โอกาสจะได้รายได้มากขึ้นก็ยากเช่นกัน